เดสติเนชั่น กรุ๊ป ปักธงไทย ทุ่ม 8,300 ล้านซื้อโรงแรม ตั้งเป้าเบอร์ 1 โฮสเทลโลก

15 ก.ค. 2566 | 13:26 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2566 | 13:56 น.
1.1 k

เดสติเนชั่น กรุ๊ป ปักธงไทย พลิกวิกฤตโควิด-19 สร้างโอกาสขยายธุรกิจ ทุ่ม 8,300 ล้านบาทซื้อโรงแรม 5 แห่งในไทย – บาหลี รับท่องเที่ยวฟื้นตัว ทั้งเดินหน้ารุกธุรกิจโฮสเทล ตั้งเป้าขึ้นแท่นเบอร์ 1 โฮสเทลโลก

เดสติเนชั่น กรุ๊ป หรือ  Destination Group เป็นบริษัทด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นการเข้าซื้อสินทรัพย์โรงแรมที่มีปัญหา เข้ามาพัฒนาธุรกิจต่อ เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน ก่อนจะขายทำกำไรต่อเมื่อมีโอกาส

เดสติเนชั่น กรุ๊ป ปักธงไทย ทุ่ม 8,300 ล้านซื้อโรงแรม ตั้งเป้าเบอร์ 1 โฮสเทลโลก

ล่าสุดเดสติเนชั่น กรุ๊ป ได้ใช้โอกาสจากวิกฤตโควิด-19 ขยายการลงทุนธุรกิจในไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ลงทุนกว่า 8,300 ล้านบาท ในการซื้อโรงแรมใหม่เพิ่มเติมในไทย และบาหลี รวมถึงมุ่งลงทุนขยายธุรกิจโฮสเทล ตั้งเป้าก้าวสู่เบอร์ 1 ของโลก

นายแกรี่ เมอร์เรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเดสติเนชั่น กรุ๊ป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ประเทศไทยมีจุดขายเรื่องการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ  และหลายครั้งไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร การท่องเที่ยวไทยก็จะกลับมาสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศได้ ทำให้เดสติเนชั่น กรุ๊ป มองโอกาสที่จะขยายธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง

แกรี่ เมอร์เรย์

ผมมองว่าในทุกวิกฤตมีโอกาส  ล่าสุดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เดสติเนชั่น กรุ๊ป ได้เข้าไปซื้อโรงแรมเพิ่มอีก 2 แห่งในไทย ทำให้เรามีโรงแรมในไทยเพิ่มจากปัจจุบันที่เปิดให้บริการแล้ว 5 แห่ง ใน จ. ภูเก็ต จ. เพชรบุรี และ หัวหิน

สำหรับโรงแรมใหม่ที่เพิ่งเข้าไปซื้อโรงแรมแห่งหนึ่งที่เขาหลัก ขนาด 400 ห้อง พื้นที่ 29 ไร่ ที่เพิ่งซื้อมาได้ 8 เดือน ลงทุนราว 2,000 ล้านบาท  ขณะนี้อยู่ระหว่างรีแบรนด์โรงแรม คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในอีก 15 เดือนข้างหน้า

รวมถึงซื้อโรงแรมเมาน์เทน บีช รีสอร์ท พัทยา บนเขาพระตำหนัก จำนวน 318 ห้อง ลงทุนราว 1,500 ล้านบาท และอยู่ระหว่างยกระดับเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว โดยรีแบรนด์เป็นโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท พัทยา ภายใต้การบริหารของเชน IHG คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2567

แบรนด์ฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท เป็นแบรนด์ที่เป็นเบอร์ 1 สำหรับตลาดครอบครัว รวมไปถึงขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรีแบรนด์โรงแรม Swissotel จ.ภูเก็ต ให้เป็นแบรนด์โรงแรมเรดิสัน เรด ( Radisson Red) แบรนด์แรกในเอเชีย ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ เดสติเนชั่น กรุ๊ป ยังได้เข้าไปซื้อโรงแรมที่บาหลีอีก 3 แห่ง รวมจำนวนห้องพักกว่า 882 ห้อง ลงทุนอีกราว 3,800 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการรีแบรนด์เช่นกัน ซึ่งการที่เราตัดสินใจซื้อโรงแรมที่บาหลี

เนื่องจากเห็นว่าหลังโควิด-19 ธุรกิจโรงแรมที่บาหลี ดีมากเหมือนกับธุรกิจโรงแรมที่ภูเก็ต ที่แทบจะไม่มีช่วงโลว์ซีซันเลย และสามารถกลับมาทำราคาขายได้ดีมาก สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกล อย่างยุโรป ซึ่งมีเที่ยวบินตรงเข้าทั้งบาหลี และภูเก็ต

เดสติเนชั่น กรุ๊ป ปักธงไทย ทุ่ม 8,300 ล้านซื้อโรงแรม ตั้งเป้าเบอร์ 1 โฮสเทลโลก

ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจโฮสเทล  เดสติเนชั่น กรุ๊ป ยังเตรียมจะลงทุนเพิ่มอีกราว 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายจำนวนเตียง จากปัจจุบันที่เรามีจำนวนเตียงอยู่ 50 แห่ง รวม 7,000 เตียง ตั้งอยู่ กรุงเทพฯ กระบี่ สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่

รวมถึงสาขาในต่างประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อเมริกาใต้ ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ของโลก จะมีการเพิ่มจำนวนโฮสเทลขึ้นมาเป็น 80 แห่ง เพื่อให้ขึ้นมาเป็นธุรกิจโฮสเทลเบอร์ 1 ของโลก โดยจะขยายทั้งในไทยและต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์

เนื่องจากเรามองโอกาสที่จะเจาะนักท่องเที่ยวที่เป็นคนรุ่นใหม่ และกลุ่มดิจิทัล โนแมด (Digital Nomad) หรือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ พร้อมกับทำงานไปด้วย เพียงแค่แล็ปท็อปที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ที่มีการเติบโตสูงมากทั่วโลก

เดสติเนชั่น กรุ๊ป ปักธงไทย ทุ่ม 8,300 ล้านซื้อโรงแรม ตั้งเป้าเบอร์ 1 โฮสเทลโลก

ทั้งนี้ธุรกิจโฮสเทลของเดสติเนชั่น กรุ๊ป จะดำเนินการโดย Collective Hospitality มี 4 แบรนด์ อยู่ในไทย 60% และอยู่ในต่างประเทศ 40% ที่จะมีจุดขายที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีความชอบต่างกัน

อาทิ SLUMBER PARTY HOSTELS เกาะเต่า จ. สุราษฎร์ธานี จะเป็นโฮสเทลปาร์ตี้สำหรับนักเดินทางวัยหนุ่มสาว Socialtel เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี  โรงแรมเพื่อสังคมระดับ 4 ดาว PATH HOSTELS จ.เชียงใหม่ โฮสเทล กระโจมที่ตั้งอยู่ในจุดหมายปลายทางที่สวยงามที่สุดในโลก และ BODEGA HOSTELS เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โฮสเทลปาร์ตี้ชั้นนำในไทย เน้นกลุ่มดิจิทัล โนแมด เป็นต้น

นายแกรี่ ยังกล่าวต่อว่าปัจจุบันเดสติเนชั่น กรุ๊ป มีรายได้หลักจากธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ 70% ธุรกิจโฮสเทล 15% และธุรกิจอาหารภายใต้เดสติเนชั่น อีทส์ เป็นเจ้าของ บริหารแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม 12 แบรนด์ มีร้านอาหารกว่า 30 แห่ง

อาทิ Hooters, Hard Rock Cafe หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต Scoozi Pizza อีก 15% แต่จากการขยายจำนวนโฮสเทลที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนรายได้ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าก็จะเปลี่ยนไป โดยรายได้จากธุรกิจโฮสเทล จะเพิ่มมาเป็น 90% ธุรกิจโรงแรมและอาหารอยู่ที่ 10%

“การพัฒนาธุรกิจของเดสติเนชั่น กรุ๊ป เราให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า การให้บริการต่างๆจึงต้องตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไปจากเดิม ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะโฟกัสและมองประสบการณ์ในการเข้าพักเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้าพัก”

เดสติเนชั่น กรุ๊ป ปักธงไทย ทุ่ม 8,300 ล้านซื้อโรงแรม ตั้งเป้าเบอร์ 1 โฮสเทลโลก

นายแกรี่ กล่าวต่อถึงธุรกิจอาหารว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราได้ปรับตัวหลายด้าน อย่างในช่วงเกิดโควิดที่ไม่มีนักท่องเที่ยว เราก็ดำเนินธุรกิจอาหารในลักษณะ “Virtual kitchen” รูปแบบที่ไม่มีหน้าร้านใช้ครัวกลาง สำหรับจัดส่งเดลิเวอรี ในแบรนด์ต่างๆของเดสติเนชั่น อีทส์

เช่น Big Boy Burgers, Power Eats, Wow Cow Ice Cream, Urban Grunge Coffee, Boom Boom Burgers, Scoozi Pizza, Taco Delight, Hanuman, Gochan Chicken ซึ่งก็ทำให้ธุรกิจอาหารยังมีรายได้ช่วงโควิด ก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการได้เหมือนเดิมแล้ว จากโควิดคลี่คลาย และยังคงให้บริการแบบเดลิเวอรีได้ต่อเนื่องด้วย