เอกชนผวาการเมืองร้อน หวั่นดึงม็อบลงถนน ฉุดเศรษฐกิจไทยพัง

12 ก.ค. 2566 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 20:11 น.
746

ภาคเอกชน ประสานเสียงหวั่นปัญหาการเมืองร้อน ก่อนถึงวันโหวตนายกฯ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เสี่ยงเกิดม็อบลงถนน ซ้ำเติมฉุดเศรษฐกิจไทยพัง ขณะที่การตั้งรัฐบาลใหม่ช้ากระทบการใช้จ่ายงบประมาณ

สัปดาห์แห่งความร้อนแรงของการเมืองไทย ถนนทุกสายจับจ้องไปวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

โดย 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ต่อที่ประชุมเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่การันตีว่าจะสามารถโหวตผ่านได้แบบผ่านฉลุยหรือไม่ เพราะยังติดปมสมาชิกวุฒิสภาว่าจะยกมือให้ได้ตามที่ทางพรรคก้าวไกลออกมาบอกก่อนหน้านี้ว่าสามารถปิดดีลได้เป็นที่เรียบร้อย

ช็อตต่อไปคงต้องตามต่อเพราะไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2566 แน่นอน โดยเฉพาะในกรณีการโหวตไม่ผ่านด้วยเงื่อนไขและเกมทางการเมือง อาจมีความเสี่ยงว่าจะมีมวลชนฝ่ายสนับสนุนพรรคก้าวไกลลุกฮือขึ้นชุมนุมประท้วงมากดดัน ส.ส. และ ส.ว. จนผลสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้

 

ภาพประกอบข่าว เอกชนจับตาสถานการณ์การเมือง ก่อนโหวตเลือกนายกฯ

หวั่นม็อบทำลายบรรยากาศลงทุน

มาดูมุมมองภาคเอกชน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเหตุการณ์แทรกซ้อน ไม่มีเรื่องการประท้วงหรือเดินขบวน สร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีต่างชาติยังมาตามแผนเดินทางเดิมจะส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีประเทศได้ โดยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เดือนก.ค.2566 ยังประเมินว่า จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3.0-3.5% แม้เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักคือภาคการส่งออกยังติดลบต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดย กกร.ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกลดลงเป็น -2.0% ถึง 0.0%

ขณะที่ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า กรณีที่การโหวตนายกรัฐมนตรีวันที่ 13 ก.ค. ไม่ได้ และเกิดเหตุการณ์รุนแรงว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนทางด้านของความเชื่อมั่น รวมไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจ โดยถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น จะกระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วงนี้ก็ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวแล้ว หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวล ก็ย่อมส่งผลกระทบเศรษฐกิจ ของประเทศตามมาด้วย

“ภาคธุรกิจก็มีความหวังว่าเมื่อมีรัฐบาลเข้ามาจะขับเคลื่อนงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่ระบบประชาธิปไตยที่สะท้อนเสียงของประชาชนจำนวนมาก ควรจะเป็นไปตามสิ่งที่ประชาชนต้องการ โดยสิ่งที่น่าห่วงคือกระแสผู้ที่สนับสนุนนายพิธา หากมีการรวมตัวกันลงถนนและก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งภาคเอกชนมีความเป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่น หรือราคาหุ้นที่มีโอกาสจะหวั่นไหว และถ้าเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็เท่ากับย้อนไปสู่อดีตซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรให้เกิด และควรจะจบในสภา” นายอิศเรศ กล่าว

 

ภาพประกอบข่าว เอกชนจับตาสถานการณ์การเมือง ก่อนโหวตเลือกนายกฯ

บี้ดันนโยบายหนุนส่งออก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เสนอว่า ควรเร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออก และเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะยิ่งทำให้ประเทศเกิดความเสี่ยงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความเสี่ยงของภาวะสุญญากาศการเมือง เฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ของรัฐบาลล่าช้ามากขึ้น และงบประมาณใหม่จะบังคับใช้ล่าช้าไม่น้อยกว่า 1 ไตรมาส รวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐจะมีความล่าช้าตามไปด้วย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย ยอมรับว่า การโหวตเลือกนายกในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ภาคเอกชน ยังไม่กังวลเพราะยังอยู่ในไทม์ไลน์ของการโหวต แต่หากโหวตครั้งแรกไม่ผ่านก็เป็นตัวบ่งชี้ทิศทางแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนการโหวตที่เหลืออีกสองครั้งพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งก็ต้องไปหารือว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าทั้งสามครั้งไม่จบ ทั้ง 8 พรรคร่วมก็คงต้องกลับไปหารือว่าจะให้ใครเป็นแคนดิเดตนายก โดยสิ่งที่ทั้งภาคเอกชนกังวล คือ ความยืดเยื้อและการลงถนน ส่วนนักลงทุนต่างชาติเองก็ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแต่ก็ยังไม่มีความกังวลซึ่งก็ยังคงรอดูทิศทางของรัฐบาลแต่ไม่ถึงกับถอนการลงทุนไป
 

ตั้งตารอรัฐบาลใหม่ฟื้นศก.

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า อยากให้การโหวตเลือกนายกฯ เป็นไปตามกลไกของประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพราะหากยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน สมาคมฯ จึงต้องการนำเสนอให้รัฐบาลใหม่เร่ง 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น 2. มาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุน SME และค่าครองชีพประชาชน 3. มาตรการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนตํ่า SME และฟื้นฟูหนี้ NPL 4. มาตรการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคแรงงาน และ 5. มาตรการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของเอสเอ็มอี

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมฯ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วและราบรื่นเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าและขอส่งสัญญาณถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความตั้งใจจะเข้ามาบริหารประเทศ ได้ออกนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะมาพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาคึกคักโดยเร็ว

“ในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนสูงจากทั้งค่าพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็อ่อนแอ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ปัญาคือ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นไปแต่ละกลุ่มเป้าหมายและไม่ซับซ้อน โดยเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มฐานรากและเพิ่มการใช้จ่ายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งลดขั้นตอนให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมภาคท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติและคนไทยท่องเที่ยวเมืองไทย” นายฉัตรชัยระบุ

 

ภาพประกอบข่าว เอกชนจับตาสถานการณ์การเมือง กระทบเศรษฐกิจ GDP


อสังหาฯ หวั่นการเมืองไม่นิ่ง

ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า แม้ไทม์ไลน์การโหวต เลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลจะเร็วกว่าที่กำหนดแต่ในครั้งนี้อาจมีความวุ่นวายซ่อนอยู่และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ยอมรับว่าเอกชนทั้งไทยและต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ชะลอตัดสินใจลงทุนออกไป จนว่าจะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สะท้อนว่า การจัดตั้งรัฐบาลหากล่าช้า นอกจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นแล้ว การลงทุนภาครัฐ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จะเกิดสุญญากาศ จากงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่ได้พิจารณา

เช่นเดียวกับ นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ยอมรับว่า ตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีแรกของปี 2566 เจอความท้าทายรอบด้านที่ส่งผลให้ยอดสั่งสร้างบ้านไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งปัจจัยด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า รวมถึงต้นทุนค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ต้องการสั่งสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองชะลอการตัดสินใจออกไปแบบไม่มีกำหนด และนอกจากความกังวลข้างต้นแล้วสมาคมฯ ยังกังวลถึงหากมีการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเศรษฐกิจ
 

ท่องเที่ยวขอใครก็ได้เป็นรัฐบาล

ส่วนภาคการท่องเที่ยว นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ยอมรับว่า อยากให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนท่องเที่ยว ซึ่งจะตั้งใครก็ได้จะมาจากรัฐบาลใดก็ได้ เอกชนทำงานได้กับทุกพรรค และสิ่งที่เอกชนวิตกคือหวั่นจะเกิดม็อบลงถนนซึ่งทำลายบรรยากาศด้านการท่องเที่ยว

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์

โดย 5 เรื่องเร่งด่วนที่จะเสนอรัฐบาล ได้แก่ 1. อยากให้ออกมาตรการฟรีวีซ่า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันสูง อย่างญี่ปุ่นก็ฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน 2.ออกมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย 3.การเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการท่องเที่ยว 4.เร่งซ่อมสร้างแหล่งท่องเที่ยว และ5.อยากให้ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองว่า หากการเลือกนายกรัฐมนตรี ยืดเยื้อ ย่อมมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล นั่นหมายถึง นโยบายในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยในภาพที่ต้องใช้งบประมาณทั้งด้านการพัฒนา supply และ การกระตุ้น demand รวมถึงงบประมาณปี 2567 ที่อาจต้องยืดเยื้อออกไป ย่อมมีผลต่อภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมทั้งระบบ นั่นหมายถึง ภาคการท่องเที่ยวต้องมีผลกระทบไม่มากก็น้อยตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์

ดังนั้นดังนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายในรัฐบาล สำหรับภาคการท่องเที่ยว อยากให้มีการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตลาดเป้าหมาย เช่น จีน และ อินเดีย ในการเข้าท่าอากาศยานเมืองรอง เช่น อู่ตะเภา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงราย และ กระบี่ โดยให้ท่าอากาศยานที่รองรับออกมาตรการ incentive รองรับ สายการบินให้มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

ทำให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง และ กระจายรายได้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ที่ยังต้องการตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกมาก รวมถึง ลดความแออัดของสนามบินหลักเช่น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต 

สำหรับ5 มาตรการเร่งด่วนที่จะเสนอรัฐบาล ได้แก่ 1. เร่งพิจารณาการนำวีซ่ามาใช้กระตุ้นการตลาดเป็นไปตามเป้าหมายของ 2. เร่งออกมาตรการรองรับเพิ่มเที่ยวบินในท่าอากาศยานเมืองรอง รองรับการผ่อนปรนเรื่องวีซ่า 3. การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย และ สุขอนามัย ให้กับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 4. การจัดสรรงบประมาณ จัดตั้ง องค์กรอาสาสมัครท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม มีผลในทางปฏิบัติชัดเจน และ 5.จัดสรรงบประมาณส่งเสริม ภาคเอกชนในการทำตลาดท่องเที่ยวทั้งใน และ ต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลังให้เต็มศักยภาพ