Clean Beauty ความงามหลังโควิดตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก

09 ก.ค. 2566 | 20:18 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 21:11 น.
553

ตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกหลังโควิดฟื้นตัวแรงคาด ปี 2573 ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกมูลค่าแตะ 12.38 ล้านล้านบาท ขณะที่ไทยไม่น้อยหน้าคาดมูลค่าไต่ขึ้นไปแตะระดับ 3.23 แสนล้านบาทในปี 2573 โดย Clean Beauty เป็นกลุ่มเครื่องสำอางที่น่าจับตามองตามกระแสรักษ์โลก

ตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกจะฟื้นตัวได้เร็วตามค่านิยมของผู้บริโภคที่ต้องการเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากเปิดประเทศของหลายประเทศทั่วโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุเลาลง โดยคาดว่า ในปี 2573 ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกจะมีมูลค่าขึ้นไปแตะระดับ 3.64 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12.38 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 4.2%

Clean Beauty ความงามหลังโควิดตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก

ขณะที่ตลาดเครื่องสำอางของไทย จะมีมูลค่ากว่า 3.23 แสนล้านบาทในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 5.0% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.5 เท่า จากกลุ่มลูกค้าชาวไทยที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยกลับมาตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย 

ขณะที่ตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณ 25% ของมูลค่าตลาดรวม ยังมี room to grow ในการขยายตลาดส่งออกให้กว้างขึ้น เนื่องจากยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมากเพียง 1.5% ของมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งโลก

โดยเครื่องสำอางในกลุ่ม Clean Beauty เป็นกลุ่มเครื่องสำอางที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่จะสามารถตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกที่ผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

Clean Beauty ความงามหลังโควิดตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ระบุว่าปัจจุบันตลาด Clean Beauty ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 6-7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องขึ้นไปแตะระดับ 14.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.09 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 12.7% (CAGR ปี 2564-2571) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ในระยะเวลา 7 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้น และผู้บริโภคบางส่วนยังให้ความสนใจเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นจุดเด่นสำคัญของเครื่องสำอางกลุ่ม Clean Beauty

Clean Beauty คืออะไร 

อาจจะเป็นเทรนด์เครื่องสำอางที่ยังไม่คุ้นหูเท่า Pure Beauty และ Natural Beauty หรือแม้กระทั่ง Organic Beauty ที่เน้นส่วนผสมของเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติเป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่ Clean Beauty เป็นเครื่องสำอางที่เน้นทั้งส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ เน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของส่วนผสม

โดยส่วนผสมต้องปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายทั้งต่อผิวพรรณและสุขภาพด้านอื่นๆ (Non-Toxic Beauty) รวมถึงไม่เป็นอันตรายต่อโลก อีกทั้งส่วนผสมต้องมีประสิทธิภาพและจำเป็นต่อผิวของผู้บริโภคด้วย ซึ่งนอกจากวัตถุดิบและส่วนผสมของเครื่องสำอางต้องสะอาด มีคุณภาพ และปลอดภัยแล้ว ยังต้องผ่านขั้นตอนการผลิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ ส่วนผสมและส่วนประกอบต่างๆ ต้องมีความโปร่งใส สามารถเห็นชื่อส่วนผสมที่ชัดเจนได้บนฉลากผลิตภัณฑ์ สำหรับตัวอย่างสารเคมีอันตรายที่พบมากในกลุ่มเครื่องสำอาง เช่น สารพาราเบน (หรือสารกันเสีย) ที่เป็นสารอันตรายที่พบเยอะสุดในเครื่องสำอาง โดยเฉพาะในกลุ่มสกินแคร์ โดยจะทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง สารตะกั่วที่พบมากในลิปสติก และสารมิเนอรัล ทัลค์ ที่มักพบในแป้งฝุ่นหรืออายแชโดว์

Clean Beauty บทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลก

นอกจากจะสามารถตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกได้แล้ว ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ตามกระแส “Skinimalism” ซึ่งเป็นการดูแลผิวที่เน้นเผยสุขภาพผิวที่ดีตามธรรมชาติ โดยใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุด ภายใต้คอนเซปต์ “น้อยแต่มาก (Less is More)”

สอดคล้องกับผลสำรวจที่เผยแพร่เมื่อปี 2565 ของ Kantar (บริษัทวิจัยข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก) ที่ระบุว่า หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ผู้บริโภคจะเน้นเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ช่วยลดขั้นตอนการใช้ลง แต่มีคุณภาพที่สูงขึ้น และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าและผิวกายที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 18% ของยอดขายในปี 2560 เป็น 24% ของยอดขายในปี 2564

ขณะที่ผลสำรวจ Voice of the Consumer: Beauty Survey ในปี 2565 ของ Euromonitor พบว่า 56% ของผู้บริโภคทั่วโลกชื่นชอบสไตล์การแต่งหน้าที่ดูเป็นธรรมชาติเน้นเผยสุขภาพผิวดี และผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น นอกเหนือจากการเลือกซื้อเครื่องสำอางที่ใช้วัตถุดิบหรือส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ แต่จะให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องการไม่มีส่วนผสมที่ได้จากสัตว์ และไม่ทำการทดลองกับสัตว์ รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น