โรดแมป "AOT" ขยาย 6 สนามบินแสนล้าน รับผู้โดยสาร 200 ล้านคน ปี 70

05 ก.ค. 2566 | 13:43 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 17:55 น.
550

ธุรกิจการบินฟื้นตัว ทอท.คาดว่าในปีนี้ผู้โดยสารจะกลับมาใช้บริการ 95 ล้านคนต่อปี และจะกลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิดในปีหน้า ทอท.จึงเร่งแก้ปัญหาสนามบินแออัด รวมถึงเดินแผนขยาย 6 สนามบินมูลค่าการลงทุนร่วม 1 แสนล้านบาท รับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคน/ปีในปี 70

บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปี 2566 จะกลับมาที่ราว 95 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 142 ล้านคนต่อปีในปี 2567 หรือเทียบเท่ากับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่คาดว่าปริมาณผู้โดยสารช่วงปี 2566-2567 จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นี่เองจึงทำให้ทอท.ต้องเร่งแก้ปัญหาสนามบินแออัด โดยเฉพาะ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ซึ่งนอกจากนำเทคโนโลยีมาให้บริการผู้โดยสารเช็คอินและโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เองแล้ว ยังมีแผนติดตั้งเครื่อง Auto Channel บริการผู้โดยสารขาออกรองรับ e-Passport ได้ 90 ประเทศ นำร่องในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในปี 2567

ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารขาออกจาก 6,200 คนต่อชั่วโมง เป็น 8,800 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารขาเข้าจาก 11,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 13,300 คนต่อชั่วโมง

ส่วนที่สนามบินดอนเมืองสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 3,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง และผู้โดยสารขาเข้าจาก 3,100 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง รวมถึงการเตรียมเปิดประมูลหาผู้ประกอบการรายที่ 3 ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น และบริการคลังสินค้า

 

ขยายสนามบินรับ 200 ล้านคน ปี 70

รวมไปถึงการเตรียมเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ของสนามบินสุวรรณภูมิอย่างไม่เป็นทางการ ในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคนต่อปี ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 60 ล้านคนต่อปี โดยอาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) จำนวน 28 หลุมจอด

นอกจากนี้ทอท.ยังเดินหน้าตามแผนขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในสนามบินต่างๆ ของทอท. “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงแผนพัฒนาเพื่อขยายขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งว่า วางเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2570 โดยคาดว่าจะมีรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคน/ปี โดยใช้งบลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนทั้งหมดจะมาจากการดำเนินงานของทอท.

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออกปี 67

การขยาย “สนามบินสุวรรณภูมิ” จะมีการ “ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ด้านทิศตะวันออก”  (East Expansion) ลงทุน 8 พันล้านบาท เพิ่มพื้นที่ขึ้นอีก 60,000 ตารางเมตร รับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี ลดความหนาแน่น บริเวณพื้นที่ให้บริการของอาคารผู้โดยสารหลัก ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบก่อสร้างเพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป คาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแบบฯ แล้วเสร็จเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นปี 2567 สร้างเสร็จ 2570

ตามมาด้วยโครงการ “ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ด้านทิศตะวันตก” (West Expansion) ลงทุน 8 พันล้านบาท รับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี โดยจะดำเนินการต่อเนื่องเมื่อ East Expansion ก่อสร้างเสร็จ ส่วนโครงการส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศเหนือและทิศใต้ จะมีการพิจารณาอีกครั้ง

สนามบินดอนเมืองเฟส 3 เริ่มสร้างปี 68

สำหรับโครงการ “พัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3” มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ คาดจะออกแบบแล้วเสร็จในปลายปี 2567 เปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2570 จะมีงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 160,000 ตารางเมตร

รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และจะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 ปัจจุบัน มีพื้นที่ 240,000 แสนตารางเมตร เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศ คาดว่าทั้งหมดจะรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคน/ปี   

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงระบบจราจรโดยจะก่อสร้างชานชาลารับ-ส่ง เป็น 6 ช่องจราจร รวมถึงก่อสร้างทางเชื่อมจากทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เข้าสู่ชานชาลาผู้โดยสารขาออก และก่อสร้างทางขึ้นทางยกระดับฯ จากภายใน ท่าอากาศยานดอนเมือง ตลอดจนก่อสร้างจุดเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย

ขณะที่โครงการ “ขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสาร สนามบินภูเก็ต เฟส 2” จาก 12 ล้านคน/ปี แบ่งเป็นระหว่างประเทศ 6 ล้านคน/ปี และในประเทศ 6 ล้านคน/ปี ซึ่งมีความแออัดมากจะขยายให้รองรับได้ 18 ล้านคน/ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 68 งบลงทุน ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ส่วน “โครงการขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสาร สนามบินเชียงใหม่ เฟส 1” จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสาราอากาศยานเชียงใหม่หลังใหม่ รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารเดิมรองรับผู้โดยสารในประเทศ จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคน/ปี งบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท

ในส่วนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ เตรียมงบปรับปรุง โดยจะเพิ่มโถงพักคอยผู้โดยสาร เพื่อลดความแออัด

อัพเดทแผนขยายสนามบินทอท.

รอครม.ชุดใหม่เคาะโอน 3 สนามบินทย.

นายกีรติ ยังกล่าวต่อถึงความคืบหน้าที่ทอท.จะเข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล บริหารจัดการ 3 สนามบินของกรมท่าอากาศยานหรือทย. ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน ที่ทย.ขอรับใบรับรองสนามบินสาธารณะ หลังจากนั้นจะเสนอให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติรับโอน ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณาว่าจะมีนโยบายเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ทั้งนี้ในส่วนของทอท.ได้เตรียมความพร้อมรองรับ 3 สนามบินทั้งอุปกรณ์และบุคลากร และเตรียมแผนลงทุนเพิ่มศักยภาพของสนามบินต่างๆเหล่านี้ ที่ทอท.ต้องลงทุนเพิ่มอีกราว 1 หมื่นล้านบาท

แต่หากไม่ได้รับอนุมัติจากครม.ชุดใหม่ ทอท. จะกลับไป ใช้แผนพัฒนาขยายสนามบินภูเก็ต 2 (ที่จ.พังงา ) และสนามบินเชียงใหม่ 2 ซึ่งเป็นแผนเดิมของทอท.ก่อนหน้านี้ ส่วนศูนย์กลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม โดยท้ายสุดความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ในเรื่องนี้ก่อนนั่นเอง