ขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ ดึงเทคโนโลยีผสมภูมิปัญญาเดิมแก้ภัยแล้ง

05 ก.ค. 2566 | 07:11 น.

สถาบันปิดทองหลังพระ ร่วมภาครัฐและเอกชน ขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ สู้ภัยแล้งด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานการใช้เทคโนโลยีดึงน้ำขึ้นที่สูงช่วยเกษตรกร นำร่องลุ่มน้ำมูล

เกษตรทฤษฎีใหม่" ถือเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร รากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

ที่ผ่านมา มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ผลักดันแนวทางการดำเนินการตามแนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตรและน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 

โดยในปี 2566 ได้สนับสนุนโครงการปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อขยายผลโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ (ลุ่มน้ำมูล) 8 โครงการ กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และร้อยเอ็ด พร้อมต่อยอดสร้างอาชีพให้เกษตรกรหลังได้รับน้ำเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม นี้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกร 613 ครัวเรือน มีน้ำสำหรับทำการเกษตร รวม 1,418.65 ไร่ 

ขณะเดียวกันยังแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในระยะยาวให้กับเกษตรกร คือการสํารวจข้อมูลและพัฒนา ซ่อมแซม ปรับปรุง เสริมศักยภาพแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กที่เกิดความชํารุดเสียหายให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการซ่อมแซมฝายที่ชำรุด วางระบบท่อ และคลองส่งน้ำ ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ 

 

ภาพประกอบข่าวขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ ดึงเทคโนโลยีผสมภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาแหล่งน้ำ

ดึงภูมิปัญญาพื้นบ้านพัฒนาแหล่งน้ำ

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ฯ ลงพื้นที่และติดตามการนำภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาช่วยพัฒนาแหล่งน้ำ โดยนำเครื่องสูบน้ำหางนาคตามภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อดึงน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ต่ำกว่าพื้นที่ของเกษตรกรเพื่อให้สามารถใช้น้ำได้ ตามโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพระบบกระจายน้ำคลองลุง บ้านจานเหนือ จ.นครราชสีมา พร้อมจัดทำระบบชักน้ำขึ้นที่สูง

ทั้งนี้ในปี 2565-2566 สถาบันปิดทองหลังพระฯ มีภารกิจที่สำคัญ เข้ามาช่วยซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำขนาดเล็กซึ่งหน่วยราชการไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดขัดระเบียบและงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 9 จังหวัดลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก 

โดยจังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาดำเนินการที่หมู่บ้านจานเหนือ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่กรมทรัพยากรน้ำ ได้ก่อสร้างไว้แล้ว สามารถกักเก็บน้ำได้ 260,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ประสบปัญหาเกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบอ่างเก็บน้ำดังกล่าวไม่สามารถนำน้ำไปใช้เพาะปลูกทำการเกษตรได้ เนื่องจากระดับน้ำในอ่างอยู่ต่ำกว่าแปลงนาและพื้นที่ทำกินของเกษตรกร 

กลุ่มเกษตรกร จึงขอให้สถาบันปิดทองหลังพระฯ เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยส่งอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งเป็นอดีตวิศวกรของกรมชลประทานลงมาสำรวจพื้นที่ ออกแบบวางระบบชักน้ำจากอ่างน้ำ โดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านสูบน้ำด้วยท่อหางนาคให้ไหลเข้าบ่อขนาดเล็กก่อน เมื่อน้ำในบ่อเล็กมีระดับสูงขึ้นจนมีแรงดันเพียงพอแล้วได้ต่อท่อจากบ่อเล็กกระจายน้ำ สู่แปลงนาและพื้นที่ทำกินของเกษตรกรรายย่อยที่มีระดับแตกต่างกัน 

 

ภาพประกอบข่าวขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ ดึงเทคโนโลยีผสมภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาแหล่งน้ำ

ดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วย

สำหรับวิธีดำเนินการได้เริ่มต้นการวางท่อกระจายน้ำนั้นอาสาสมัครวิศวกรของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้ใช้โดรนที่ติดเครื่องวัดระดับความสูงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ขึ้นบินสำรวจระดับความสูงของพื้นที่ เพื่อให้ทราบระดับความลาดเอียงของผิวดินและใช้เป็นข้อมูลในการวางท่อน้ำวีโฮไลท์ฝังไว้ใต้ดินลึกประมาณ 70 เซนติเมตร ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสียพื้นที่ทำกินในการวางท่อน้ำ 

รวมทั้งเกษตรกรก็ยังใช้รถไถหน้าดินได้ไม่มีผลกระทบต่อตัวท่อ ทำให้เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่ดินของเกษตรกรได้เต็มศักยภาพ ไม่จำเป็นต้องขุดส่งน้ำหรือทำคลองไส้ไก่แบบเดิมที่ทำให้เสียพื้นที่ดิน 

โดยมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 300 ไร่ ทำให้เกษตรกรที่เคยทำนาได้ปีละครั้ง แต่หลังจากนี้สามารถทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่อยอดอาชีพการเกษตรทฤษฎีใหม่หลังจากมีระบบน้ำ เช่น การปลูกข้าวแบบนาดำ เพื่อเพิ่มผลผลิต การขุดร่องน้ำเพื่อเลี้ยงปลาในนาข้าว การปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงแพะ ด้วย

 

ภาพประกอบข่าวขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ ดึงเทคโนโลยีผสมภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาแหล่งน้ำ

 

ใช้งบน้อยได้ผลเยอะ

สำหรับงบประมาณที่ใช้ดำเนินงานโครงการนี้สถาบันปิดทองหลังพระได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 580,000 บาทโดยสถาบันปิดทองหลังพระได้กำหนดเงื่อนไขการดำเนินงานโครงการ ดังนี้

1.ต้องมีการร้องขอจากเกษตรกรหรือประชาชนในพื้นที่หรือมีความต้องการจากประชาชน 

2.ระหว่างดำเนินงานโครงการของสถาบันปิดทองหลังพระ ประชาชนหรือเกษตรกรในพื้นที่ต้องยินดีเสียสละแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

3.เมื่อโครงการเสร็จแล้ว ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการต้องรวมกลุ่มบริหารจัดการในการใช้น้ำ บำรุงรักษา ตามกฎ กติกาที่ตกลงกันเอง

 

ภาพประกอบข่าวขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ ดึงเทคโนโลยีผสมภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาแหล่งน้ำ