“ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช”อนาคตความมั่นคงทางอาหารไทย

30 มิ.ย. 2566 | 12:22 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2566 | 12:31 น.

กรมวิชาการเกษตรได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดสร้างอาคารธนาคารเชื้อพันธุ์พืช มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บ รวบรวม และอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชทุกชนิดอย่างถูกต้องและเป็นระบบ

นอกจากนี้เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและให้บริการเชื้อพันธุกรรมพืช เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชของไทย และเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ที่ไทยเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารและการเกษตรแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารธนาคารเชื้อพันธุ์พืชเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 และในเดือนเมษายน 2545ได้พระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืชสิรินธร” และในวันที่ 9 กันยายน 2545 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารฯ

 

“ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช”อนาคตความมั่นคงทางอาหารไทย

ปัจจุบันธนาคารเชื้อพันธุกรรมดำเนินการโดยกลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทั้งพืชพื้นเมือง พืชป่าที่เป็นพืชต้นตระกูลของพืชเศรษฐกิจและพันธุ์พืชใหม่ของไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น ธนาคารเชื้อพันธุกรรมยังเป็นแหล่งข้อมูลด้านพันธุกรรมพืชโดยมีการจัดเก็บลักษณะประจำพันธุ์ และได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางของระบบข้อมูลกลางในการเชื่อมโยงกับข้อมูลจัดเก็บเชื้อพันธุ์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลแก่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการรับฝากและให้บริการเชื้อพันธุ์พืชที่เก็บรักษาในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชแก่หน่วยงานและบุคคลทั่วไปที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้ภารกิจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ปัจจุบันธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ได้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 33,006 ตัวอย่าง โดยมีห้องอนุรักษ์ระยะยาว (ความเย็น -10 องศาเซลเซียส) และห้องอนุรักษ์ปานกลาง (ความเย็น 5 องศาเซลเซียส) ควบคุมด้วยระบบจัดเก็บอัตโนมัติ มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับอนุสัญญาด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในเรื่องของการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชในสภาพนอกถิ่นกำเนิด และสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติในการดำเนินการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมาย

ข้อที่ 2 เรื่องการขจัดความหิวโหย จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย ขณะที่นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรชี้ว่า ปัจจุบันแม้วิถีเกษตรกรใหม่ได้หันมาใช้พันธุ์พืชใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง และได้ราคาที่ดีสำหรับพันธุ์พืชดีที่รัฐบาลแนะนำให้ปลูก และมีความต้านทานโรคและแมลงที่สำคัญบางชนิด แต่ในข้อเท็จจริงแล้วพันธุ์พืชพื้นเมืองดั้งเดิมแม้จะให้ผลผลิตไม่สูง แต่ยังมีลักษณะพันธุกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาหรือปรับปรุงพันธุ์ในอนาคตได้ ดังนั้นการยกเลิกการปลูกหรือการละทิ้งโดยไม่ได้ทำการเก็บรักษาพันธุ์ไว้เลยไม่ว่าจะเป็นพืชสวน พืชไร่ที่เป็นพืชอาหาร พืชเส้นใย พืชนํ้ามัน ไม้ดอก ไม้ประดับอื่นๆ ที่มีถิ่นกำเนิดในไทย นับเป็นการสูญเสียคุณค่าลักษณะทางพันธุกรรมพืชอย่างมหาศาล ที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้

ดังนั้นธนาคารเชื้อพันธุ์พืชจึงมีคุณูปการด้านความมั่นคงทางอาหารของไทยและของโลกที่ควรเก็บรักษาและพัฒนาต่อยอดต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด