เทียบฟอร์ม “ประพัฒน์-นัยฤทธิ์” ชิงดำประธานสภาเกษตรฯ

25 มิ.ย. 2566 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2566 | 13:39 น.
1.3 k

โชว์วิสัยทัศน์ เทียบฟอร์ม "ประพัฒน์-นัยฤทธิ์" คู่ชิงดำ “ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ” คนที่ 2 ใครจะนั่งเก้าอี้ ลุ้นโหวตเลือก 18 ส.ค. นี้

สภาเกษตรกรแห่งชาติ” เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 โดยในบทเฉพาะกาล 2 ปี ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมจัดตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุดแรกทั้งนี้นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนที่ 1(คนแรก) และได้หมดวาระลงไปก่อนหน้านี้

เทียบฟอร์ม “ประพัฒน์-นัยฤทธิ์” ชิงดำประธานสภาเกษตรฯ

อย่างไรก็ดีจากเกิดรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.(ในขณะนั้น)ได้มอบหมายให้สภาเกษตรกรแห่งชาติชุดเก่าปฏิบัติภารกิจต่อ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา12 ปี  (เดิมอยู่ในวาระได้คราวละ 4 ปีไม่เกินสองวาระ แต่จากเกิดรัฐประหาร ทำให้ยังไม่มีการเลือกตั้ง)

เทียบฟอร์ม “ประพัฒน์-นัยฤทธิ์” ชิงดำประธานสภาเกษตรฯ

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้จัดสรรงบกลาง 540 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ 77 จังหวัด รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมง พืช และสัตว์ เมื่อได้ครบองค์ประกอบแล้วจะมาโหวตเพื่อเลือกประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ 2 ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้

ล่าสุดมีแคนดิเดต 2 คนได้ประกาศความพร้อมที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อชิงเก้าอี้นี้แล้ว ได้แก่ นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ อดีตประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนที่ 1 ปัจจุบันเป็นประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง และนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม 
 

ส่องนโยบาย 2 แคนดิเดต

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์


นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตนมีความพร้อมนั่งเก้าอี้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นสมัยที่ 2 และมีความพร้อมที่จะร่วมทำงานกับรัฐบาลชุดต่อไป โดยได้มีการหารือในเบื้องต้นแล้วในหลายประเด็นของแนวทางการทำงานกับพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทั้ง 2 พรรคก็มีความเข้าใจ และได้รับข้อเสนอไปเป็นแนวนโยบาย อาทิการปฎิรูปที่ดิน แปลงที่ดิน ส.ป.ก.ให้เป็นโฉนด เป็นต้น

เทียบฟอร์ม “ประพัฒน์-นัยฤทธิ์” ชิงดำประธานสภาเกษตรฯ

ทั้งนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติมีหน้าที่สำคัญ ในการนำเสนอนโยบายเพื่อแนะนำให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ที่ผ่านมายอมรับว่าไม่ค่อยได้รับการตอบสนองสักเท่าไร แต่จากว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ที่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย มีแนวคิดคล้ายกัน จะทำให้สภาเกษตรกรฯทำงานได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
 


สำหรับผลงานเด่นๆ ที่ผ่านมาในรอบ 12 ปี นายประพัฒน์ระบุว่า ได้ทำงานโดยให้ตัวแทนเกษตรกรจากแต่ละสาขาในจังหวัดต่าง ๆ สะท้อนความเห็นและนำเสนอแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งเรื่องนโยบาย  กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ความเสี่ยงราคา และการแก้ไขปัญหา การสะท้อนความเห็น เช่น การที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP (คลิกอ่าน)  ที่ได้คัดค้านโดยชี้ให้เห็นว่าหากไทยเข้าร่วมห่วงเกษตรกรไทยจะล่มสลาย,หนุนปลดล็อคกัญชา ปั้นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่, จัดตั้งสมาคมสถาบันชาวนาไทย, ผลักดัน พ.ร.บ.ปาล์มยั่งยืนและการกำหนดกฎ กติกาในการกำกับดูแลเรื่องปาล์มครบวงจร ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และอื่นๆ

“ชู 3 เปลี่ยน 3 สร้าง 3 ปรับ”
 

เทียบฟอร์ม “ประพัฒน์-นัยฤทธิ์” ชิงดำประธานสภาเกษตรฯ


ด้านนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม  ระบุว่า ในการชิงเก้าอี้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติครั้งนี้ได้ ชู “นโยบาย 3 เปลี่ยน 3 สร้าง 3 ปรับ” โดย "3 เปลี่ยน" ได้แก่ 1.เปลี่ยนสภาของเกษตรกรโดยเกษตรกร เพื่อเกษตรกรอย่างแท้จริงทั้งหลักคิด หลักการและหลักปฏิบัติ  2.เปลี่ยนข้อบังคับและระเบียบที่เป็นอุปสรรค ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553และ 3.เปลี่ยนรูปแบบและวิธีดำเนินงานของสภาเกษตรกรให้เร็วรุก สนุกกับงาน คนสำราญ งานสำเร็จ โดยวิธีร่วมคิด ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับประโยชน์
 


ส่วน “3 สร้าง” ได้แก่  1.สร้างทีมงานบริหาร ทีมงานขับเคลื่อนงาน พัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นมืออาชีพ และเข้มแข็งอย่างเร่งด่วน 2.สร้างเครือข่ายเกษตรกรให้เข้มแข็งเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนทุกระดับทุกมิติให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพและบูรณาการ และ 3.สร้างต้นทุนองค์กรให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะกับรัฐบาล  และ “3 ปรับ” ได้แก่ 1.ปรับรูปแบบและโครงสร้างคณะกรรมการใหม่ ให้มีบทบาทที่ชัดเจนตลอดห่วงโซ่อุปทานของภาคการเกษตรเพื่อการทำหน้าที่บูรณาการการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร 2.ปรับรูปแบบและปรับแนวคิด ทัศนคติ ของสมาชิกและบุคลากรให้เป็นหนึ่งเดียวรู้รักสามัคคี มองเป้าหมายองค์กรเป็นตัวตั้ง 3.ปรับ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและรองรับการแข่งขัน โดยคำนึงถึงความคล่องตัว แก้ไขปัญหาเกษตรกรเป็นหลัก

“นโยบายดังกล่าวมาจากปัญหา 12 ปีที่ผ่านมาที่เป็นบทเรียน วันนี้ผมพร้อมแล้วที่จะนั่งเก้าอี้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนที่ 2” นายนัยฤทธิ์ กล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,899 วันที่ 25-28 มิถุนายน พ.ศ. 2566