ทส. วางแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน เน้นย้ำคนต้องอยู่กับป่า

18 มิ.ย. 2566 | 20:37 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 20:47 น.

กระทรวงทรัพยากรฯ (ทส.) วางแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน เน้นย้ำคนต้องอยู่กับป่า กำหนดเงื่อนไขการใช้พื้นที่ พร้อมสั่งเร่งทำความเข้าใจชุมชน ชี้ต้องไม่มีการบุกรุกเพิ่ม

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร ในเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อม

เมื่อกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์มีผลบังคับใช้ โดยมีผู้บริหารในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เช่นหัวหน้าเขตอุทยานฯ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึงผู้ปฏิบัติ จำนวน 431 คน เข้าร่วม ที่ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566ที่ผ่านมา

 

นายจตุพร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาเร่งด่วน พร้อมกำชับให้เร่งติดตามเร่งรัดการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 121 เพื่อใช้ตรวจสอบคุณสมบัติ และกำหนดเงื่อนไขการใช้พื้นที่ พร้อมขอให้เร่งรัดกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการตรวจสอบรับรองเขตการปกครองให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

จตุพร บุรุษพัฒน์

พื้นที่รับผิดชอบของเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีมากกว่า 200 แห่ง และมีความซับซ้อน ดังนั้นจึงต้องเร่งทำมาตรฐานในการทำงาน โดยยึดหลักกฎหมาย และเน้นย้ำการทำงาน ซึ่งจะต้องสื่อสารกับประชาชนให้มากที่สุด และเป็นเรื่องที่เป็นห่วงมากที่สุด จึงต้องการให้มีการฝึกอบรม ซักซ้อมทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่เรื่องการสื่อสารด้วย

ประชุมเชิงปฎิบัติการ

นายจตุพร ยังมอบแนวทางปฏิบัติงานของทั้ง 3 เขต ให้วางตัวอย่างเหมาะสมในการทำงานแต่ละพื้นที่ และใช้เวลาที่มีอยู่ สร้างเครือข่าย และทำข่าวในพื้นที่ หรือดึงภาคสังคมเข้ามาช่วยทำงาน ในการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เรื่องการอนุรักษ์ และรักษาพื้นที่ โดยสิ่งที่ต้องยืนยัน คือ หลังจากทำแปลง ทำแผนที่แล้ว หัวหน้าหน่วยทุกหน่วยจะต้องมีแผนที่อยู่ในมือ เพื่อดูแลป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นมาตรฐานชี้วัด (KPI) กับเจ้าหน้าที่ในทุกเขต พร้อมย้ำว่าการทำงานจะต้องมีแผนว่าทำอย่างไรให้มีกำไร คือ ได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น อย่าให้พื้นที่ป่าหายไปมากกว่าเดิม

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มอบนโยบายการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ พร้อมคาดการณ์ว่าหลังจากเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ปัญหา และข้อเรียกร้อง เรื่องที่ดินและที่ทำกินจะเพิ่มขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมตั้งรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมีคณะกรรมการชุมชน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ที่รับรองสิทธิ์ไปแล้ว และไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งตามมาในภายหลัง

"อยากเน้นย้ำว่า ในระหว่างนี้ต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ ขอบเขตแปลง รายชื่อ คุณสมบัติ และเตรียมการเข้าไปคุยกับชาวบ้าน อย่าปล่อยทิ้งจนกลายเป็นปัญหา และเกิดการเรียกร้อง ดังนั้นจากนี้ให้เข้าไปทำความเข้าใจกับชุมชนที่มีปัญหามากที่สุดก่อน เพราะการเข้าไปคุยครั้งแรกจะเป็นประโยชน์ ทำให้ชุมชนมีทัศนคติที่ดีกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น" นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล ยังกล่าวย้ำด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุด จะต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากที่สุด ในระหว่างที่กฎหมายลำดับรอง ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่จะบานปลาย ไปสู่การเรียกร้องยกเลิกกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องมีงบประมาณในการลงไปทำความเข้าใจ ว่าพื้นที่ไหน คือ พื้นที่ทำกิน พื้นที่แปลงรวม พื้นที่ทำประโยชน์ในการหาของป่า เพื่อไม่ให้เกิดการบุกรุก และเป็นการป้องกันการเผาป่า

สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการระหว่างนี้ จะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ทั้ง 3 เขต ว่าแต่ละชุมชนมีขอบเขตแปลงที่ดินถูกต้องตามที่สำรวจหรือไม่ และเร่งทำความเข้าใจ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และประเด็นสำคัญที่สุด คือ การตรวจสอบบุคคลผู้ถือครอง ว่ามีสิทธิในที่ทำกินตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าถูกต้องให้จัดทำเอกสารสิทธิ และทำระบบเก็บข้อมูลไว้ที่กรมกับฝ่ายปกครอง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบสิทธิการถือครองในอนาคต พร้อมย้ำว่าการดำเนินงานทุกอย่าง จะต้องยึดหลักกฎหมาย และหลักมนุษยธรรม เน้นปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ในระหว่างที่รอกฎหมายลำดับรอง จะมีแนวทางปฏิบัติกลางในการทำงาน และขอให้ทุกหน่วยงานส่งความคิดเห็นเข้ามาแลกเปลี่ยน เพื่อปรับปรุงให้มีความเหมาะสม และให้เกิดเครื่องมือในการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 เขตต่อไป