“คมนาคม” ปัดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก รับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก

31 พ.ค. 2566 | 17:33 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2566 | 17:33 น.

“คมนาคม” สั่งตั้งคณะทำงานย่อย ตรวจสอบข้อเท็จจริงปมส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก นัดถกวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ยันตั้งด่านชั่งน้ำหนักระบบอัตโนมัติ สกัดรับส่วย-ติดสินบนเจ้าหน้าที่ เผยสถิติรถบรรทุกเกินกำหนดย้อนหลัง 4 ปี แตะ 1.1 หมื่นคัน

นายพิศักดิ์  จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติ๊กเกอร์บนรถบรรทุก ครั้งที่ 1/2566 ว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติ๊กเกอร์บนรถบรรทุก ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว

โดยจะเชิญบุคคลหรือผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำ รวมถึงเรียกเอกสารพยานหลักฐานต่างๆจากบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการรวบรวมข้อมูลตามหน้าที่และอำนาจได้ตามจำเป็นและเหมาะสม  หลังจากนั้นจะต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงฯทราบภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2566 นับจากวันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง

“คมนาคม” ปัดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก รับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก

ขณะเดียวกันในที่ประชุมนั้นกรมทางหลวง (ทล.) ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของการรับสินบนเพื่อแลกกับการยกเว้นตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกนั้น เบื้องต้นทราบว่า ทล.มีการติดตั้งด่านตรวจน้ำหนักรถบรรทุก ซึ่งใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจจับน้ำหนักตั้งแต่ปี 2549 โดยปัจจุบันมีด่านเปิดใช้งานแล้วจำนวน 97 ด่าน และมีแผนจะพัฒนาเพิ่มเป็น 128 ด่านทั่วประเทศ

“ทางหลวงใช้ระบบไอทีเข้ามาตรวจจับน้ำหนักรถบรรทุก ดังนั้นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการติดสติ๊กเกอร์เพื่อแลกกับการไม่ตรวจชั่งน้ำหนักคงไม่ใช่ เพราะหากรถเข้าด่านแต่มีน้ำหนักเกินกำหนด หากติดสติ๊กเกอร์เครื่องก็สามารถตรวจจับน้ำหนักได้อยู่แล้ว และเมื่อพบว่ามีน้ำหนักเกินก็ต้องถูกเรียกปรับตามกฎหมายกำหนด”

“คมนาคม” ปัดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก รับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก

นายพิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมครั้งนี้ยังได้มอบหมาย ทล. จัดทำรายละเอียดและคลิปวิดีโอในการตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุกขณะรถวิ่ง หากพบว่ารถบรรทุกบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือ Weight In Motion (WIM) เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล และความโปร่งใส ซึ่ง ทล.ยืนยันด้วยว่าปัจจุบันมีข้อกำหนดรถบรรทุกทุกคันที่ผ่านด่านจะต้องเข้ารับการตรวจสอบน้ำหนัก หากไม่ดำเนินการตรวจสอบก็จะมีการติดตามเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย

นายพิศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดนี้ มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของ ทล.ตามที่มีการกล่าวประเด็นถึงเรื่องตดสินบน พร้อมชี้แจงถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ส่วนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับตัวบุคคลซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคมจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการรับสินบนอย่างไรนั้น คณะทำงานจะตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากบุคคลที่เกี่ยวข้องส่วนใด มีข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถประสานมายังกระทรวงฯ เพื่อตรวจสอบต่อไป

นายจิระพงศ์  เทพพิทักษ์  รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทล.ไม่ได้ใช้ระบบคนในการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก แต่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นคงไม่เกี่ยวเนื่องว่ารถที่มีสติ๊กเกอร์เท่านั้นที่จะผ่านด่านตรวจน้ำหนัก เพราะระบบอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ตรวจจับที่น้ำหนัก ไม่ได้ยกเว้นสติ๊กเกอร์ประเภทใด และหากตรวจจับน้ำหนักแต่ละคันมีผลอย่างไรนั้น ระบบหน้าด่านก็จะส่งผลมายังศูนย์ควบคุมกลาง เพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับต่อไป

“คมนาคม” ปัดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก รับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นดังกล่าวว่า ปัจจุบัน ทล.มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจชั่งน้ำหนัก โดยจะมีการสลับพื้นที่หัวหน้าด่านฯ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำหน่วยทุกๆ 8 เดือน เพื่อป้องกันการกระทำความผิด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตอบข้อสงสัยของสังคม ทล.จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง

สำหรับผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี 2563 – 2566 พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีจำนวน 2,796 คัน ปี 2564 มีจำนวน 2,891 คัน ปี 2565 มีจำนวน 3,488 คัน และปีงบประมาณ 2566 เก็บข้อมูลถึงวันที่ 17 พ.ค.2566 มีจำนวน 2,431 คัน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า วันนี้ (31 พ.ค.2566) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดส่วยบรรทุก โดยมีนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดี ขบ. และโฆษก ขบ. เป็นประธาน เพื่อรวมรวบข้อมูลตรวจสอบเกี่ยวกับการร้องเรียนหรือกระแสสังคมที่มีการะทำผิดกรณีส่วยรถบรรทุกหรือรถขนส่งสาธารณะทุกประเภทที่ ขบ. กำกับและดูแล ซึ่งต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน จากนั้นให้นำเสนอตน ก่อนที่จะเสนอกระทรวงคมนาคมให้รับทราบต่อไป

ส่วนกรณีส่วยรถบรรทุกนั้น ขบ. จะมีหน้าที่ในการจดทะเบียนรถ ตรวจสอบอุปกรณ์ส่วนควบ สภาพรถ ชำระภาษีให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ ขบ. กำหนด ขณะเดียวกันในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จะคุมเข้มในการตั้งด่านตรวจวัดควันดำในรถขนส่งสาธารณะ เน้นรถบรรทุก และรถโดยสาร เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลจะตั้งจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ เน้นตรวจรถโดยสาร และ พนักงานขับรถ เพื่อให้ขับขี่ปลอดภัยตลอดการเดินทาง

นอกจากนี้ ขบ. เน้นย้ำนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง โปร่งใส เพื่อป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์จากการทำงานมาโดยตลอด ทั้งนี้หากคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดส่วยบรรทุก หรือระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีเจ้าหน้าที่ ขบ. กระทำผิดจะต้องได้รับการลงโทษทางวินัยและตามกฎหมายขึ้นอยู่กับแต่กรณี ซึ่งหากรุนแรงถึงขั้นให้ออกจากราชการ