ย้อนรอยอุบัติเหตุในรอบ 5 ปี บน “ถนนพระราม 2”

31 พ.ค. 2566 | 13:52 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2566 | 13:54 น.
661

“ถนนพระราม 2” หรือ “ถนน 7 ชั่วโคตร” เป็นถนนสายเดียวที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นถนนที่มีการก่อสร้างยาวนานกว่า 50 ปี ตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง-วังมะนาว ตัดผ่าน 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ,สมุทรสาคร และราชบุรี

ในปัจจุบันบนถนนพระราม 2 มีการก่อสร้างหลายโครงการฯที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ส่งผลให้บนเส้นทางถนนสายนี้เกิดปัญหารถติดสะสมมาเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังพบการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการต่างหวาดกลัวถึงความปลอดภัยในการก่อสร้างบนถนนสายนี้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการเข้มงวดในการแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยอย่างไร  

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงหมายเลข 35 ช่วงดาวคะนอง-วังมะนาว หรือถนนพระราม 2 บริเวณกม.0+000-กม.84+041 พบว่าในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 2,242 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 130 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,303 ราย ดังนี้ ในปี 2561 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 491 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 38 ราย ผู้บาดเจ็บ 268 ราย ,ปี 2562 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 415 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 23ราย ผู้บาดเจ็บ 275 ราย

ปี 2563 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 406 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 20 ราย ผู้บาดเจ็บ 277 ราย ,ปี 2564  เกิดอุบัติเหตุจำนวน 234 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 21 ราย ผู้บาดเจ็บ 116 ราย ,ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 434 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 16ราย ผู้บาดเจ็บ 229 ราย ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 เมษายน 2566 พบว่า เกิดอุบัติเหตุจำนวน 262 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 12 ราย ผู้บาดเจ็บ 138 ราย 

ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างบนถนนพระราม2 รวม 3 โครงการของกรมทางหลวง (ทล.) และ 1 โครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไม่นับโครงการซ่อมแซมอื่นๆ ประกอบด้วย 1.โครงการขยายพระราม 2 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ค. 2564   2.โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) 3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) และ 4.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก

สำหรับโครงการโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กิโลเมตร (กม.) งบประมาณกว่า 29,236 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย ระยะทางรวม 8.3 กม. วงเงินรวมกว่า 10,477 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นช่วง กม.11+959 พื้นที่กรุงเทพฯ สิ้นสุด กม. 20+295 อ.เมืองสมุทรสาคร ปัจจุบันมีความคืบหน้ารวม 82% จากแผนงาน 86% ช้ากว่าแผน 3.9%

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินจากการประมูลกว่า 18,759 ล้านบาท  มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย บริเวณ กม.20 อ.เมืองสมุทรสาคร สิ้นสุด กม.36 อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร  ปัจจุบันมีความคืบหน้า 23% จากแผนงาน 20.4% เร็วกว่าแผน 2.5% คาดว่าทั้งโครงการฯจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2568

หากย้อนรอยการเกิดอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ ดังนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ 2 คัน เป็นรถกระบะ และรถเก๋ง ตกร่องถนนที่กำลังก่อสร้าง จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าบริษัทโลหะกิจเจริญทรัพย์ ถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร ขาเข้ากรุงเทพฯ โดยที่เกิดเหตุไม่มีป้ายแจ้งเตือน และเป็นลักษณะน้ำท่วมบริเวณร่องถนน

ย้อนรอยอุบัติเหตุในรอบ 5 ปี บน “ถนนพระราม 2”

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 คนงานบริษัท อิตาเลียนไทยฯ หล่นจากคานทางด่วน พระราม 2 ช่วง กม.19 เสียชีวิตระหว่างทำการติดตั้งแผ่นรองรับตัวคาน คาดว่าเป็นช่วงมุดเข้าใต้ท้องสะพานจึงถอดเข็มขัดนิรภัยออก

เมื่อวันที่17 ก.ค.2565 พบวัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลง บนถนนพระราม 2 กม.17 ขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงสมุทรสาคร เหล็กขนาดใหญ่ได้ลอยตกลงมาทับจนรถกระดอนขึ้น สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และมีรถยนต์ส่วนบุคคลเสียหายอีก 2 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จำนวน 3 คน โดยทล.ชี้แจงว่า เหล็กดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็ก

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 พื้นสะพานทางด่วนพระราม 2 พบรอยแตกร้าว บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเนเชอร่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือ ทรัพย์สินเสียหาย โดยทล.ชี้แจงเกิดจากความสั่นสะเทือน เนื่องจากสะพานช่วงดังกล่าว มีปริมาณการจราจรสูงมาก พร้อมระบุถึงการเข้าซ่อมแซม โดยปิดช่องจราจรด้านใต้ของสะพานเป็นเวลา 2 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2565 พบเหตุการณ์สะพานกลับรถ หรือจุดยูเทิร์นเกือกม้า บนถนนพระราม 2 บริเวณ กม.34 หน้าโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พังถล่มลงมาทับรถยนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.66 บริเวณหน้า index living mall ถนนพระราม 2 เกิดเหตุการณ์เหล็กที่ยึดโครงสร้างสร้างชิ้นส่วนคานขาด ทำให้คานหล่นลงพื้น และคนงานที่กำลังยึดเกี่ยวสลิงอยู่บนคานร่วงหล่นลงมาพร้อมกับคาน ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 1 ราย คนงานบาดเจ็บ 1 คน และมีรถยนต์ที่สัญจรได้รับความเสียหาย 4 คัน จากเศษคอนกรีตจากคานกระเด็นโดนรถยนต์

ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น อยู่ในส่วนของงานสัญญาที่ 2 งานสร้างทางยกระดับจากเซ็นทรัลพระราม 2- รพ.บางปะกอก 9 ในโครงการทางพิเศษ(ด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกของกทพ. มีกิจการร่วมค้า ซีทีบี ประกอบด้วย บริษัท China Harbour Engineering Company Limited, บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางกทพ.ฯ จะดำเนินการสอบสวนโดยให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เข้ามาดำเนินการตรวจสอบก่อน เนื่องจากโครงการฯนี้เป็นงานเฉพาะทาง  

 

หากตรวจสอบพบว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมา จะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย หรือยึดใบอนุญาตผู้คุมงานตลอดชีพ ในส่วนของบริษัทที่เป็นผู้รับจ้างดำเนินงานก่อสร้างจะมีการติดแบล็กลิสต์ไม่ให้เข้าร่วมงานกับกทพ.อีก นอกจากนี้ในอนาคต หากมีโครงการอื่นๆที่มีการประมูลจะมีการระบุเงื่อนไขว่าบริษัทที่มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือ ประมาทเลินเล่อจะไม่ได้รับสิทธิ์ร่วมงานกับกทพ.

 

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการเข้มงวดกับผู้รับเหมาแต่ละโครงการฯที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง