เปิดข้อเรียกร้อง 5 มิ.ย. “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ขอบำนาญยามชรา-ปลดหนี้

27 พ.ค. 2566 | 20:48 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2566 | 20:57 น.

5 มิ.ย. “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” สมาคมชาวนาฯ เรียกร้องรัฐ “จัดสวัสดิการชาวนา มีบำนาญใช้ยามชรา-ปลดหนี้-ขอบ่อนํ้าทุกตำบลสู้ภัยแล้ง” หยุดหนี้ ลดหนี้ ลดดอก ธ.ก.ส. ให้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น หลังต้องเผชิญ “3 เสี่ยง” แล้ง-นํ้าท่วม โรคพืช แมลง ราคาผันผวน ชักหน้าไม่ถึงหลัง

วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ซึ่งในปีนี้ เพื่อเชิดชูเกียรติสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวนาไทยทั่วประเทศ กรมการข้าว ได้จัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2566 ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใต้ชื่องาน “91 พรรษา สายธารแห่งนํ้าพระทัย สร้างชาวนาวิถีใหม่ สู่ข้าวไทยยั่งยืน” ในงานจะมีนิทรรศการและการสาธิตด้านการลดต้นทุนการผลิตข้าวโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการประกวด แข่งขัน สาธิต จัดแสดงนวัตกรรมจากข้าวในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจและทันสมัย

เปิดข้อเรียกร้อง 5 มิ.ย. “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ขอบำนาญยามชรา-ปลดหนี้

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมฯขอประกาศเจตนารมย์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวนา เนื่องใน “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” โดยขอให้รัฐบาลมีสวัสดิการ เช่นมีบำเหน็จบำนาญเหมือนราชการ และต้องการพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงไม่ตํ่ากว่า 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานโรคพืชโรคแมลง และขายได้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งนี้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดภาระ และลดความเสี่ยง

“ความเสี่ยงที่ชาวนาต้องเจอในการประกอบอาชีพมาโดยตลอด ได้แก่ 1.สภาวะอากาศทั้งภัยแล้ง ขาดแคลนนํ้าในการทำนา นํ้าท่วม 2. โรคพืชและแมลง 3.ความเสี่ยงเรื่องราคา ซึ่งทั้งหมดเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ในเรื่องนํ้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำนา แนวทางช่วยลดความเสี่ยง เช่น ขุดบ่อนํ้าทุกตำบล สร้างระบบชลประทานให้เพียงพอและทั่วถึง ขุดลอกคลองส่งนํ้าที่มีอยู่เดิม เนื่องจากบางพื้นที่ตื้นเขิน อุดตัน หรือถูกรุกลํ้า นํ้าไหลไม่สะดวก การพัฒนาแหล่งนํ้าธรรมชาติ แหล่งนํ้าใต้ดินโดยสนับสนุนแผงโซลาร์เซลล์เพื่อการสูบนํ้าใต้ดินโดยการใช้ปั้มซัมเมอร์ส เป็นต้น”

เปิดข้อเรียกร้อง 5 มิ.ย. “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ขอบำนาญยามชรา-ปลดหนี้

ความเสี่ยงจากโรคพืชและแมลง ต้องหารือเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อโรคพืชโรคแมลง ความเสี่ยงเรื่องราคา รัฐอาจช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวโดยการเข้าไปอุดหนุนส่วนต่างราคาเพื่อไม่ให้เกษตรกรขาดทุนกรณีราคาข้าวผันผวนมาก ส่วนนี้ต้องใช้งบประมาณ แต่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชาวนา

เปิดข้อเรียกร้อง 5 มิ.ย. “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ขอบำนาญยามชรา-ปลดหนี้

นอกจากนี้ที่สำคัญ ความเสี่ยงเรื่องต้นทุนทางการเงิน ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวนาไทยเผชิญอยู่ รัฐควรการเข้าไปจัดการในส่วนของภาระหนี้สิน อัตราดอกเบี้ย เงินรายงวดที่เกษตรกรต้องชำระ หรือจัดสรรให้เกษตรกรที่มีหนี้อยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยควรปรับโครงสร้างการผ่อนชำระหนี้ในรูปแบบที่ตรงกับความสามารถและรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าปัจจัยการผลิตแล้ว อีกแนวทางคือให้หยุดหนี้ ลดหนี้ หยุดดอกเบี้ย เพื่อให้เกษตรกรมีเงินหมุนเวียนไปลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นหนี้วนอยู่แบบนี้ไม่มีลด

รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล

 

ด้าน นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ประธานศูนย์ข้าวชุมชนสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด จำกัด และสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การจัดงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ควรจะดึงงานหน่วยที่เกี่ยวข้องด้านดิน นํ้า เข้าร่วมด้วย เช่น กรมฝนหลวงกรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น เนื่องจากกรมการข้าว ไม่ได้เป็นเพียงหน่วยงานเดียวมที่ให้การส่งเสริม สนับสนุน และแก้ปัญหาให้กับชาวนา หากดึงหน่วยงานอื่นเข้าร่วม เวลาชาวนาเกิดปัญหาจะได้ทราบว่าจะต้องไปหน่วยงานไหนเพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,891 วันที่ 28-31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566