ชาวสวนโวยสุญญากาศการเมืองปล่อยผีทุบราคาปาล์ม

27 พ.ค. 2566 | 16:39 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2566 | 18:20 น.

ชาวสวนโวยสุญญากาศการเมือง ปล่อยผีพ่อค้ากดราคาปาล์มต่อเนื่อง “โรงสกัด” โอด “ถั่วเหลือง” โลก ผลผลิตพุ่ง- นํ้ามันซีพีโอไทย ราคาสูงกว่าตลาดโลก ส่งออกไม่ได้ ร้องรัฐบาลใหม่ช่วยด่วน ขณะที่กรมการค้าภายใน จับตา “โรงสกัด-ลานเท” ฉวยโอกาสกดราคา ฮึ่ม!โทษสูงคุก 7 ปี

คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม ได้มีการพิจารณาปริมาณสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบของไทยเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 2.4 แสนตัน โดยพิจารณาจากผลปาล์มนํ้ามันที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พยากรณ์ (ณ 18 เม.ย.66) อยู่ที่ 1.704 ล้านตัน คิดเป็นนํ้ามันปาล์มดิบ (อัตรา นํ้ามัน 18%) จำนวน 0.307 ล้านตัน สต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบเดือนเมษายน 2566

ชาวสวนโวยสุญญากาศการเมืองปล่อยผีทุบราคาปาล์ม

จากการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบคงเหลือทั้งระบบระดับจังหวัดระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2566 จำนวน 2.06 แสนตัน และประมาณการความต้องการใช้ในประเทศ (บริโภค อุตสาหกรรม และพลังงาน) 2.27 แสนตัน ประกอบกับแผนการส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบที่ผู้ประกอบการแจ้ง 4.6 หมื่นตันนั้น (กราฟิกประกอบ)

 

พันศักดิ์ จิตรรัตน์

นายพันศักดิ์  จิตรรัตน์ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) และกรรมการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม ยังมีการประชุมในวันพฤหัสดีของทุกสัปดาห์เพื่อประเมินสถานการณ์ราคาตลาดโลก ราคาในประเทศ ปัจจัยที่ทำให้ราคาผลปาล์มนํ้ามันปรับลดลง โดย ณ วันที่ 22 พ.ค. 2566 อยู่ที่ 4.80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และบางพื้นที่อาจตํ่ากว่านี้ ซึ่งในคณะฯ ได้มีรายงานว่าเป็นผลจากหลายปัจจัยทั้งราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับลดลงมาจากผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น ราคานํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ส่งออก ไม่ได้ ค่าเงินบาทผันผวน เป็นต้น

 “ในการประชุมทุกครั้งผู้ส่งออกก็จะพูดเหมือนว่าจะขาดทุน และไม่มีปัจจัยบวกเลย แต่ในความเห็นของผมมองว่าไม่จริงไปซะหมด ช่วงนี้การเมืองเกิดสุญญากาศ ราชการปล่อยเกียร์ว่าง ไม่มีใครกำกับดูแลให้เข้มแข็ง พ่อค้ารวมหัวกดราคา เห็นได้จากสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบก็ไม่มากอยู่ที่ 2.4 แสนตัน เมื่อเห็นภาพทั้งระบบ ผลผลิตน้อย แต่ทำไมราคาตกตํ่า แม้กระทั่งปัจจุบันมีระบบเรียลไทม์ในตรวจสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบ ซึ่งเป็นเพียงการรับทราบว่ามีนํ้ามันปาล์มเท่าไรเป็นค่าเฉลี่ยต่อปีเท่านั้น ยังไม่สามารถรายงานค่าเฉลี่ยต่อวันหรือต่อสัปดาห์ได้”

 

นายพันศักดิ์ กล่าวอีกว่าได้นำเสนอในคณะฯ ใน 2 เรื่อง เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์ม ได้แก่ 1. ห้ามลานเทส่งปาล์มให้โรงสกัดเกิน 48 ชั่วโมง และ 2.ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายผลปาล์มร่วง โดยจะให้ทำเป็นกฎหมายออกมาเพื่อให้ปาล์มที่เกษตรกรมีคุณภาพ ทั้งนี้หากมีการส่งผลปาล์มให้โรงสกัดเกิน 48 ชั่วโมง ส่อถึงเจตนาขายผลปาล์มร่วง เช่น กระทบให้ลูกร่วง ร่วงจากทะลาย พอทะลายเริ่มยุ่ย ก็จะเอานํ้าใส่เข้าไปดูดซึมเข้าไปได้ จะทำให้ปาล์มไม่มีคุณภาพ

ชาวสวนโวยสุญญากาศการเมืองปล่อยผีทุบราคาปาล์ม

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มนํ้ามันแห่งประเทศไทยและกรรมการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม กล่าวว่า หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าพอเปลี่ยนขั้วการบริหารทางการเมืองจะทำให้ราคาปรับตัวขึ้นทันที แต่ความจริงเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งเวลานี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ดูแลเต็มที่ โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลราคารับซื้อผลปาล์มว่ามีการกดราคาหรือไม่ เป็นราคาผิดธรรมชาติหรือไม่ หรือมีการปิดโรงงานหยุดรับซื้อชั่วคราว เพื่อรอราคาลงแล้วค่อยกลับมาเปิดใหม่หรือไม่ หากมีลักษณะเช่นนี้จะเข้าข่ายความผิดในมาตรา 29 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการซึ่งจะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

“ตอนนี้การส่งออกนํ้ามันปาล์มมีน้อย หรือแทบไม่มีเลย จากราคาในประเทศสูงกว่าตลาดมาเลเซีย ขอฝากถึงกรมศุลกากรให้ไปตรวจเข้มที่ด่านระนอง ที่ได้ข่าวมาว่ามีการลักลอบนำเข้านํ้ามันปาล์มเข้ามาในจังหวัดชุมพร จากราคาในประเทศสูงกว่า ส่วนสถานการณ์โลกก็ยังไม่เป็นผลดีกับปาล์มเท่าไร จากที่ประเทศอินเดีย ผู้นำเข้านํ้ามันพืชรายใหญ่ของโลก ได้มีการนำเข้านํ้ามันถั่วเหลืองเข้าไปทดแทนการนำเข้านํ้ามันปาล์มโดยมีการลดภาษีนำเข้า ขณะที่ผลผลิตถั่วเหลืองโลกก็เพิ่มขึ้นด้วย”

 

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการค้าพืชไร่กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เปิดเผยรายงานประเมินอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรโลก (WASDE) ว่าปีนี้ผลผลิตข้าวโพดทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะประเทศบราซิล ซึ่งปีนี้มีการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุด

 

ส่วนอาร์เจนตินา ผลผลิตลดลงจากภัยแล้ง และต้องนำเข้าจากบราซิลและเพื่อนบ้านเพื่อให้เพียงพอใช้และจะสามารถกลับมาได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในต้นปี 2567 โดยภาพเมื่อคาดการณ์ ผลผลิตและสต๊อกคงเหลือทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยบวกที่จะทำให้สินค้าในตลาดไม่ขาดแคลน เพราะมีการต่ออายุโครงการส่งออกจากเขตทะเลดำแล้ว (รัสเซียอนุญาตให้ยูเครนส่งออกได้) จะส่งผลดีทำให้ทั่วโลกเข้าถึงวัตถุดิบทางอาหารได้มากขึ้น

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,890 วันที่ 25-27 พฤษภาคม พ.ศ.  2566