ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยรายงานล่าสุดระบุว่า ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและการคลัง อาจจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้นหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แม้ว่าไทยยังคงได้ประโยชน์จากสถานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว
รายงานของฟิทช์ระบุว่า "คณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยมีเวลาถึง 60 วันในการประกาศผลอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม แต่ตัวเลขเบื้องต้นบ่งชี้ว่าพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดก่อนหน้านี้ ตามมาเป็นอันดับที่ 2"
"การจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภาและเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องรวมคะแนนเสียงให้ได้อย่างน้อย 376 เสียง จากที่นั่งรวม 700 ที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารก่อนการเลือกตั้งปี 2562"
"ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคเล็ก ๆ หลายพรรค พันธมิตรที่มีศักยภาพในการจัดตั้งรัฐบาลอาจประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย ซึ่งทำให้มีการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายในกรอบที่กว้าง การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพอาจถูกจำกัดชั่วคราวหากกระบวนการสรรหาพันธมิตรร่วมรัฐบาลทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไปหลายเดือน"
"แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การคาดการณ์ของเราในกรณีพื้นฐาน (base case) นั้น ผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้นจะมีจำกัด โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่เราคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เราได้ระบุไว้กว้าง ๆ ว่า อาจเกิดรัฐบาลผสมที่กระจัดกระจาย ทำให้การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพนั้นกลายเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ก็ไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และแม้ว่าแนวโน้มนโยบายการคลังมีความไม่แน่นอน แต่เราคาดว่ารัฐบาลผสมชุดใหม่จะยังคงยึดมั่นในนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญบางส่วนของรัฐบาลชุดที่แล้ว"
"ตัวชี้วัดภาคการคลังสาธารณะของไทยที่เสื่อมถอยลงอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับปัจจุบัน แต่ฟิทช์คาดการณ์ว่า หนี้ภาครัฐทั่วไป/จีดีพี และดอกเบี้ย/รายได้ ในปี 2566-2567 จะยังคงอยู่ในระนาบตามค่ามัธยฐาน (median) ของกลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือในระดับ ‘BBB'"
"หากรัฐบาลชุดต่อไปไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐได้ ตัวอย่างเช่น มีแรงกดดันด้านการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง หรือมีผลกระทบจากภายนอกซึ่งอยู่นอกเหนือสมมติฐานพื้นฐานของเรา นั่นจะส่งผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง" ฟิทช์ระบุในแถลงการณ์