ผวาหลุดไทม์ไลน์ เอกชนห่วงยื้อตั้งรัฐบาล ฉุดเศรษฐกิจสะดุดยาว

25 พ.ค. 2566 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2566 | 09:47 น.

บิ๊กหอการค้าชี้ MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล หากทำได้จริงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดแข่งขันประเทศ ห่วงตั้งรัฐบาลล่าช้าไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กลุ่มเกษตร-อาหารมั่นใจได้อานิสงส์ อสังหาฯผวาค่าแรง 450 สภาอุตฯจี้แก้ 5 วาระด่วน

22 พ.ค. 2566 ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) 8 พรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีวาระที่จะร่วมกันผลักดันใน 23 ข้อ หากการจัดตั้งรัฐบาลประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ ๆ เช่น การร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมลํ้า, การยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม, การจัดทำงบประมาณแบบใหม่ เน้นการใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์(zero-based budgeting)

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินและการดำรงชีวิตของประชาชน, การฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียนและรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ, การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม, การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ส่วนเรื่องที่เป็นข้อกังวลของสังคม เช่น การแก้ไขมาตรา 112 ให้เป็นวาระของพรรคก้าวไกลที่จะพิจารณาและดำเนินการในช่องทางของพรรคเอง ทั้งนี้มีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจาก MOU ดังกล่าว

 

  • 23 วาระร่วมส่งสัญญาณบวก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลงนาม MOU ของทั้ง 8 พรรค ที่มีวาระร่วมกันใน 23 ภารกิจหลัก โดยมีแนวทางการปฏิบัติที่จะร่วมกันบริหารประเทศใน 5 ข้อ ถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยประเด็นหรือวาระที่ได้หยิบยกมานั้น ในด้านเศรษฐกิจถือว่าก็มีความชัดเจน มีประเด็นเร่งด่วน ทั้งลดภาระรายจ่าย เพิ่มรายได้ และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม ในภาพรวมถือว่าสามารถสร้างนโยบายร่วมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมออกมาได้ดี
ต่อข้อถามมีเรื่องหรือวาระใดบ้างที่มองว่าอาจเกิดปัญหาตามมาในอนาคต และรัฐบาลควรมีวิธีการป้องกันอย่างไร ประธานกรรมการหอการค้าไทยชี้ว่าการลงนามใน MOU เป็นภาพกว้าง ๆ ของนโยบาย แต่การลงมือทำจริง อาจจะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมของการปฏิบัติซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลต้องมาลงในแนวทางปฏิบัติร่วมกันซึ่งต้องติดตามต่อไป

ผวาหลุดไทม์ไลน์ เอกชนห่วงยื้อตั้งรัฐบาล ฉุดเศรษฐกิจสะดุดยาว
 

  • ตั้งรัฐบาลช้าเศรษฐกิจเสียหาย

 อย่างไรก็ดีข้อกังวล หรือข้อห่วงใยมากที่สุดในฐานะภาคเอกชนคือขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาล หากมีความล่าช้า และมีความยืดเยื้อไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ จะส่งผลเสียต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นการตั้งรัฐบาลคงต้องตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเดินหน้านโยบายบริหารประเทศต่อ ซึ่งหอการค้าไทยเคยให้ความเห็นไปก่อนหน้านี้ว่า เรื่องตั้งรัฐบาลเร็ว และมีเสถียรภาพ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากไทม์ไลน์หากสามารถตั้งรัฐบาลได้เดือนสิงหาคม การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกคงเกิดขึ้นได้ในเดือนกันยายน

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“สิ่งที่กังวลคือ การผ่านงบประมาณประจำปีช้า และนโยบายต่างๆ ก็คงตามออกมาช้า ทำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน โดยเฉพาะต่างชาติหลายคน คงจะ wait & see รอความชัดเจนหลายอย่าง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ดีเลย์การค้า การลงทุนออกไป”

  • ลุ้นได้ดรีมทีมรัฐบาล

 นายสนั่น ยังให้ความเห็นถึง จุดแข็ง-จุดอ่อนของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล 313 เสียง ณ เวลานี้ จุดแข็งคือมีเสียงข้างมากในสภาฯ ขณะเดียวกันจุดอ่อนคือ ยังไม่แน่ว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งก็ยังคงต้องรอเสียงสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้เกิดความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามจากการรวม 8 พรรค และเห็น MOU ที่ออกมา เชื่อว่าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดรีมทีมของว่าที่รัฐบาลใหม่ มั่นใจว่าจะสามารถนำคนที่มีประสบการณ์ ผสานกับคนที่มีวิสัยทัศน์มาสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นได้

  • เพิ่มแข่งขันเกษตร-ปศุสัตว์

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายพรรคการเมืองจะช่วยให้เกษตรกรไทย คนไทย และภาคเอกชน ได้อานิสงส์ กรณีพรรคก้าวไกลมีนโยบายด้านเกษตรและอาหาร เช่น การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรอย่างถาวร โดยการรับซื้อหนี้จากเกษตรกร โดยเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเป็นสวนป่า รัฐเช่า ที่ดินเกษตรกรเพื่อปลูกไม้ยืนต้นและให้เกษตรกรดูแล ทําให้เกษตรกรมีรายได้จากค่าเช่าและค่าแรง แบ่งส่วนหนึ่งใช้หนี้ ธ.ก.ส. ได้ ปลดหนี้ ธ.ก.ส. เกษตรกรสูงวัย สนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ ลดต้นทุน เพิ่มเงินทุน ขยายตลาด ดอกเบี้ย 0% ผ่อนโดรน รถไถ รถดํานา เครื่องจักรการเกษตร แก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า เพิ่มแต้มต่อให้ SMEs เปิดตลาดโลก เดินสายเจรจาประเทศคู่ค้า สร้างโอกาสเกษตรกรไทย รับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ ฟรี! ส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก เป็นต้น

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

“นโยบายหลายอย่างภาคเอกชนเห็นด้วย อย่างปุ๋ยสั่งตัดเห็นด้วยอย่างมากเพราะแต่ละฟาร์มมีการใช้ปุ๋ยตามสภาพดินที่แตกต่างกัน หากมีการซื้อ 1 แถม 1 ปุ๋ยสั่งตัด แม่ปุ๋ยราคาถูก ผ่านสหกรณ์-กลุ่มเกษตร-วิสาหกิจชุมชน ก็จะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่หลากหลายได้ เป็นเรื่องที่ดีที่รอบนี้ไม่มีพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องประกันรายได้หรือจำนำสินค้าเกษตร แต่จะเป็นนโยบายการเพิ่มความสามารถ เพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรถือว่าเป็นนโยบายที่ดี”

ดังนั้นการลงนาม MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ใน 23 วาระที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเรื่องการส่งเสริมการเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หากมีการขับเคลื่อนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับทั้งภาคเกษตรกร ภาคเอกชน และประเทศ

  • อสังหาฯผวาค่าแรง 450

ขณะปมร้อน นโยบายด่วนพรรคก้าวไกล ยืนยันเดินหน้าขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน ที่คาดกันว่าจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจำนวนมากนั้น นายบดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังต้องประเมินท่าทีว่า นโยบายดังกล่าวจะถูกผลักดันนำมาใช้จริงเป็นไปได้แค่ไหน และจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อย่างไร โดยเฉพาะโครงการก่อสร้าง และสัญญารับเหมาใหม่ ๆ

 อย่างไรก็ตาม ตัวแปรอยู่ที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก เช่น ค่าแรงขึ้นมา 5% แต่ผู้รับเหมาที่อยากปิดงาน ก็อาจจะแบกไว้เอง 3% และผลักให้ดีเวลลอปเปอร์ 2% เช่นเดียวกันต้นทุนที่งอกเพิ่มในส่วนดีเวลลอปเปอร์ ส่วนใหญ่บริษัทต่าง ๆ อาจจะยอมแบกไว้เอง เพราะขณะนี้ “กำลังซื้อ” ยังน่าเป็นห่วง แต่อีกส่วนก็คงต้องจำใจผลักต่อให้ผู้บริโภค ในรูปแบบของราคาขายที่สูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี บริษัทจะพยายามควบคุมระยะเวลาก่อสร้างให้สั้นลง และบริหารต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างร่วมด้วย เพื่อให้ไม่กระทบต่อผู้บริโภคมากนัก หากนโยบายดังกล่าวมีการผลักดันใช้จริง

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • สภาอุตฯชง 5 วาระเร่งด่วน

 ผู้สื่อข่าวรายงานวันที่ 23 พ.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.และคณะให้การต้อนรับ และร่วมหารือ ทั้งนี้ส.อ.ท.ได้นำเสนอวาระ เร่งด่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม 5 ด้าน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงาน เช่นการแก้ปัญหาไฟฟ้าสำรองเกิน เร่งตั้ง กรอ.พลังงาน แก้หนี้ กฟผ.

2.การแก้ไขปัญหาแรงงานโดยค่าจ้างให้ยึดตามทักษะฝีมือ ยึดตามไตรภาคี หรือรัฐสวัสดิการ 3.การส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เช่น เสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่เอสเอ็มอี จัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี รวมถึงการลดค่านํ้า ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น เพื่อลดภาระด้านต้นทุนในการประกอบการ และจูงใจให้ SME เข้าสู่ระบบฐานภาษีมากขึ้น

4.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น พัฒนา ยกระดับ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ยกระดับการบริหารจัดการนํ้าเป็นวาระแห่งชาติ ทบทวนแผนแม่บทนํ้า 20 ปี เป็นต้น และ 5.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business หรือการทำธุรกิจให้มีความง่ายและคล่องตัวจากเวลานี้มีกฎหมายที่ล้าสมัยนับพันฉบับที่เป็นอุปสรรคและต้นทุน

สำหรับในสัปดาห์หน้านายพิธา และคณะจะเดินสายพบปะและหารือกับผู้บริหารของหอการค้าไทย และนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าไทยหรือ YEC เป็นลำดับถัดไป

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3890 วันที่ 25 -27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566