"ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย"ต่ำเป็นอันดับที่ 16 ของโลก

22 พ.ค. 2566 | 11:34 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2566 | 11:40 น.

สนค.เผย ดัชนีราคาผู้ผลิตไทยต่ำเป็นอันดับที่ 16 ของโลก สัญญาณชะลอตัวแนวโน้มเงินเฟ้อโลกปี66 มีทิศทางอยู่ในขาลงชัดเจน จีน ติดลบ2.5% ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน  แนะผปก.ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเฝ้าระวังความเสี่ยงเพื่อบริหารต้นทุนและปรับราคาสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศทั่วโลกส่งสัญญาณชะลอตัว ชี้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของโลกปี 2566 มีทิศทางอยู่ในขาลงอย่างชัดเจน ข้อมูลจาก trading economics ล่าสุด พบว่า 21 ประเทศ จาก 78 เขตเศรษฐกิจ (รวมถึงไทย) รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) หดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
ขณะที่ 59 เขตเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า10% ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับตัวลดลงจากที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปสงค์ของโลกที่ชะลอตัวลง และปัญหาอุปทานไม่เพียงพอมีแนวโน้มคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้านี้

อีกทั้ง อัตราการเปลี่ยนแปลงชะลอตัวลงกระจายในหลายกลุ่มสินค้า สะท้อนว่า ทิศทางการชะลอตัวของดัชนียังคงมีต่อเนื่อง และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคจะลดลงในระยะถัดไป ขณะที่ผู้ประกอบการไทยควรรีบใช้โอกาสจากการมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าหลายประเทศ เพื่อเร่งการส่งออกสินค้าและวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานโลก

\"ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย\"ต่ำเป็นอันดับที่ 16 ของโลก

ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตเทียบกับปีก่อน (YoY) ในเดือนมีนาคม ไทยขยายตัวต่ำเป็นอันดับที่ 16 จาก 78 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลขในเดือนมีนาคม อยู่ที่ติดลบ1.7%  ซึ่งอยู่ต่ำกว่าหลายเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ไต้หวัน อินเดีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร เป็นต้น และต่ำกว่าประเทศในอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ประเทศที่ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงต่ำกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ รัสเซีย มาเลเซีย และจีน เป็นต้น โดยหลายเขตเศรษฐกิจสำคัญ ดัชนีราคาผู้ผลิตต่ำสุดในรอบหลายเดือน และการชะลอตัวของดัชนีกระจายในหลายกลุ่มสินค้า เช่น จีน ติดลบ2.5% ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน โดยหลายหมวดสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เหมืองแร่ วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมแปรรูป และสินค้าอุปโภค-บริโภคที่คงทน

\"ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย\"ต่ำเป็นอันดับที่ 16 ของโลก

สำหรับสินหมวดอาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวเพียง 2%  สหรัฐอเมริกา ขยายตัว2.7% ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากการชะลอตัวทั้งในหมวดสินค้า อาหาร บริการ ค้าปลีก และการบริหารคลังสินค้าและการจัดเก็บ หากไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ขยายตัว 3.6% ใกล้เคียงกับดัชนีในภาพรวม) สหภาพยุโรป ขยายตัว 5.9% ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน

 โดยหมวดสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภค-บริโภคที่คงทน ชะลอต่ำกว่า 10% ขณะที่สินค้าอุปโภค-บริโภคที่ไม่คงทน ลดลงอยู่ที่ 13.4% และญี่ปุ่น ขยายตัว 7.2% ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน โดยหมวดปิโตรเลียมและถ่านหิน ไม้และไม้แปรรูป หดตัว ขณะที่หมวดเคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์ยานยนต์ ชะลอตัว อย่างไรก็ดี หมวดอาหาร เหล็ก พลาสติก และเครื่องจักรยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 110.1 ติดลบ3.4% (YoY) โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งนี้ เป็นจากการลดลงของทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หดตัวติดลบ3.2% จากกลุ่มสินค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และโลหะขั้นมูลฐาน จากความต้องการตลาดที่ชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ดัชนีปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (น้ำตาลทราย ข้าวสารเจ้า มันเส้น เนื้อสุกร ไก่สด และปลาทูน่ากระป๋อง) เนื่องจากความต้องการตลาดยังมีต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนการผลิตทยอยปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มเครื่องดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ในภาพรวมดัชนีค่อนข้างทรงตัวที่ 108.0 แต่ฐานที่สูงนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2565 ทำให้ดัชนีหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน

\"ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย\"ต่ำเป็นอันดับที่ 16 ของโลก

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองติดลบ10.5%  จากการหดตัวของก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก และวุลแฟรม) สินค้าที่ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ถ่านหินและลิกไนต์ ในภาพรวมดัชนีลดลงต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกันจาก 154.6 ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 138.3 ในเดือนเมษายน ประกอบกับฐานที่สูงในปี 2565 ทำให้ดัชนีหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน

 หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ติดลบ2.5% จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสำคัญ ได้แก่ ผลปาล์มสด มะพร้าวผล ยางพารา และผลไม้ (ทุเรียน กล้วยหอม) ผลจากปริมาณผลผลิตเพียงพอกับอุปสงค์ สำหรับสินค้าที่ดัชนีปรับสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้า อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง เป็นต้น ในภาพรวมดัชนีเคลื่อนไหวในช่วง 111.0 - 114.0 ทำให้การขยายตัวมีความไม่แน่นอนในแต่ละเดือน

\"ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย\"ต่ำเป็นอันดับที่ 16 ของโลก

ทั้งนี้แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงที่เหลือของปี 2566 มีทิศทางลดลง โดยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก รวมทั้งอุปสงค์โลกที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัว สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ในช่วงไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากฐานที่สูงของปีก่อนหน้า ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวจากฐานที่ต่ำ

อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและประมง ต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น อุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และผลการเลือกตั้ง อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถใช้ความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่มีราคาถูกสำหรับเร่งการส่งออก รวมทั้งเฝ้าระวังความเสี่ยงเพื่อการบริหารต้นทุนและการปรับราคาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ