ผ่าแนวคิด ‘ค้าปลีกสีเขียว’ เติบโตยั่งยืน ลดใช้พลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

20 พ.ค. 2566 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 13:45 น.

บิ๊กทุนค้าปลีกขานรับแนวคิด ESG เดินหน้าชู Green Retailing สร้างความยั่งยืน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าหันใช้พลังงานทดแทน เลือกใช้รถไฟฟ้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดขยะอาหาร ลดคาร์บอนฟุตพรินท์ หนุนชุมชม สังคม สิ่งแวดล้อมแข็งแรง

การดำเนินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล หรือ ESG ถูกนำมากำหนดเป็นพันธกิจของหลายองค์กร รวมถึงธุรกิจค้าปลีก ที่ถูกนำมาต่อยอดภายใต้แนวคิด “Green Retailing” ที่นอกเหนือจากการจัดหาสินค้าที่เป็นมิตร ดีต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมให้เลือกซื้อแล้ว ยังมีเรื่องของเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ การลดการก่อขยะ รวมไปถึงลดการใช้พลังงาน การสร้างคาร์บอนฟุตพรินท์ ฯลฯ

หนึ่งในองค์กรที่เดินหน้าและกลายเป็นต้นแบบ คือ “ซีพี ออลล์” ที่เริ่มต้นนโยบาย “7 Go Green” นับจากปี 2550 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน สังคมและประเทศ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงาน และลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก ใน 4 รูปแบบคือ

1. Green Store การบริหารจัดการร้านอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy), เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency), ปรับปรุงประสิทธิภาพคอยล์เย็น เป็นต้น

ผ่าแนวคิด ‘ค้าปลีกสีเขียว’ เติบโตยั่งยืน ลดใช้พลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผลลัพธ์ที่ได้ในปี 2565 คือลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 84,623.87 เมกะวัตต์-ชั่่วโมง, ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุุนเวียน 120,611.23 เมกะวัตต์-ชั่่วโมง และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 119,974.21 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2. Green Logistic การขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงานผ่านโครงการต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและออกแบบศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ เช่น ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ขยายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์

นำร่องโครงการใช้รถไฟฟ้าในกระบวนการขนส่งสินค้า, โครงการปรับเปลี่ยนขนาดรถขนส่งสินค้า เป็นต้น ผลลัพธ์ที่ได้ในปี 2565 คือ จำนวนรถขนส่งไฟฟ้าในระบบขนส่งและส่่งมอบสินค้า จำนวน 1,013 คัน, จำนวนสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 24 สถานี (ปัจจุบันปี 2566 มี 25 สถานี) และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,427.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

3. Green Packaging การจัดการ บรรจุุภัณฑ์ที่่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลลัพธ์ที่ได้ในปี 2565 คือ ลดการใช้วัสดุุบรรจุุภัณฑ์พลาสติก และไม่ใช่พลาสติกจากการวิจัยและพัฒนา จำนวน 1,814.51 ตัน, ลดการใช้ถุุงพลาสติกและพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 24,695.81 ตัน, บรรจุุภัณฑ์หลังการอุุปโภคบริโภคที่่นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycled) จำนวน 2,701.40 ตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 258,777.08 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลููกไม้ยืนต้น 6,018,071 ต้น

ผ่าแนวคิด ‘ค้าปลีกสีเขียว’ เติบโตยั่งยืน ลดใช้พลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. Green Living การสร้างจิตสำนึก รักษ์สิ่งแวดล้อม ผลลัพธ์ที่ได้ในปี 2565 คือ ลดขยะอาหารสู่ การฝังกลบ จำนวน 16,260.86 ตัน, ส่งมอบอาหารส่วนเกินกว่า 1,181,780 มื้ออาหาร ให้กับ 224 ชุุมชน, ปลููกต้นไม้สะสม จำนวน 347,800 ต้น และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 14,955.40 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมทำให้ธุรกิจค้าปลีกต่างเดินหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะในภาวะที่ต้นทุนพลังงานพุ่งสูง ผนวกเทรนด์โลกที่ตระหนักเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เซ็นทรัลพัฒนา ดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ด้วยแนวคิด “Central’s Energy Efficiency Master Plan” อย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบปรับอากาศ มีการปรับลดเวลาใช้งานเครื่องตามเวลาการเปิดบริการศูนย์การค้า และสอดคล้องกับจำนวนผู้มาใช้บริการ, ปรับลดการเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่างเท่าที่จำเป็น และปิดไฟเร็วขึ้นหลังปิดให้บริการ

ปรับลดการเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่างในช่วงกลางวันให้สอดคล้องกับสภาพแสงสว่างธรรมชาติ และลดการเปิดไฟในพื้นที่ลานจอดรถที่ไม่มีผู้ใช้บริการ เพื่อความปลอดภัย, ระบบลิฟท์และบันไดเลื่อน ปรับลดการเปิดใช้ล่วงหน้าก่อนเปิดให้บริการ และปิดให้เร็วขึ้นหลังปิดให้บริการ, ลดการใช้พลังงานในบริษัท ปรับลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาพักเที่ยง, ใช้บันไดขึ้น-ลงระหว่างชั้นแทนการใช้ลิฟท์ และเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและหลอดไฟประหยัดพลังงาน เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็มีแผนงานประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน โดยเตรียมการติดตั้ง Solar Rooftop และ Solar Street Light พร้อมใช้ระบบอัจฉริยะ สำหรับระบบไฟแสงสว่าง การติดตั้งฉนวนและฝ้าเสริมเพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร เปลี่ยน Chiller เป็นแบบ High Efficiency เป็นต้น เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2050

ผ่าแนวคิด ‘ค้าปลีกสีเขียว’ เติบโตยั่งยืน ลดใช้พลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เช่นเดียวกับ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ที่เดินหน้าแนวคิด “ค้าปลีกสีเขียว” โดยมุ่งเป้าหมายที่ต้องการร่วมเป็นองค์กรที่ลดคาร์บอนฟุตพรินท์ ลดการใช้พลังงาน เดินหน้าติดตั้ง “ตู้เย็นประหยัดพลังงาน” ที่ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, ท็อปส์ เดลี่, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และแฟมิลี่มาร์ท 777 สาขาทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายจะมีการเลือกใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ทดแทนการใช้สารทำความเย็นที่มีผลทำลาย สิ่งแวดล้อมและโอโซนในชั้นบรรยากาศ ในเครื่องทำความเย็นทั้งหมด

โดยนายสเตฟาน คูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ผู้บริหารท็อปส์ และ แฟมิลี่มาร์ท กล่าวว่า เพื่อดำเนินธุรกิจให้สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีส่วนร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ที่เป็นสาเหตุภาวะโลกร้อน (Global Warming)

บริษัทจึงริเริ่มติดตั้ง “ตู้เย็นประหยัดพลังงาน” ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณกว่า 175 ล้านบาท พร้อมเปลี่ยนสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ เป็นการใช้นวัตกรรมระบบทำความเย็นเพื่อลดการสูญเสียความเย็น ควบคุมอุณหภูมิได้ดียิ่งขึ้น ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 35% เมื่อเปรียบเทียบกับระบบตู้เย็นแบบเปิด

ขณะที่นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า บิ๊กซีร่วมกับดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย นำรถพลังงานไฟฟ้า (EV) เต็มรูปแบบมาใช้ขนส่งและกระจายสินค้า เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งเน้นในการเป็นองค์กรแห่งการเป็น Green Logistics และเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือปี 2050

ผ่าแนวคิด ‘ค้าปลีกสีเขียว’ เติบโตยั่งยืน ลดใช้พลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“บิ๊กซีนำร่องใช้รถพลังงานไฟฟ้าในการขนส่งกระจายสินค้า ในบิ๊กซี 3 สาขา ในกรุงเทพฯ คือ บิ๊กซี สาขาสะพานควาย บิ๊กซี สาขารัชดา และบิ๊กซี สาขาราชดำริ พร้อมวางแผนขยายเส้นทางและจำนวนรถเพิ่มเติมในระยะยาว ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในอนาคต ทั้งนี้การร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนในการสร้างซัพพลายเชนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,888 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566