"ส.อ.ท." เตรียมยื่นสมุดปกขาวเบรครัฐบาลใหม่ขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ"

16 พ.ค. 2566 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2566 | 15:08 น.

"ส.อ.ท." เตรียมยื่นสมุดปกขาวเบรครัฐบาลใหม่ขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ" แนะเน้นไปที่การเพิ่มค่าแรงจากทักษะฝีมือแรงงานมากกว่าคู่กับการลดค่าครองชีพ หวั่นเกิดวงจรอุบาทว์ตามมาภายหลัง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ส.อ.ท.อยู่ระหว่างจัดทำสมุดปกขาวเพื่อที่จะนำเสนอรัฐบาลใหม่ โดยข้อเสนอจะคล้ายกับการประชุมสามัญประจำปี 2566 ที่ส.อ.ท.จัดขึ้น และเชิญ 9 พรรคการเมืองมาดีเบตเมื่อ 28 มี.ค.66 ไปแล้ว 

สำหรับสิ่งสำคัญขณะนี้คือการเร่งจัดตั้งรัฐบาลและการตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งหากได้ในช่วงก.ย.-ต.ค.66 ไทยจะมีช่วงสุญญากาศ 4-5 เดือนที่จะกระทบต่อการใช้เงินงบประมาณปี 2567และจัดทำงบปี2568 จึงต้องการให้เร่งโดยเร็วเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้า

“เวลานี้กำลังทำข้อเสนอหรือ Position Paper ถึงรัฐบาลใหม่อยู่คิดว่าจะตรวจรับปลายเดือนนี้จากนั้นก็เข้ากรรมการบริหารอนุมัติเพื่อยื่นรัฐบาลใหม่ ส.อ.ท.พร้อมทำงานกับทุกรัฐบาลเพราะเรามองความมั่นคงของชาติ มองไปที่การตั้งนายกฯเพราะหากได้นายกฯ เดือนก.ย.-ต.ค. งบประมาณปีนี้จะใช้อย่างไร ต้องการให้เร่งแบบเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ต้องการให้ทะเลาะกัน ต้องการเห็นประเทศชาติเดินหน้า”

สำหรับข้อเสนอที่จะจัดทำเพื่อส่งให้กับรัฐบาลใหม่หลักๆ ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยที่ขณะนี้ได้ลดลง โดยการปรับโครงสร้างกฏระเบียบภาครัฐ 1,000 ฉบับที่เคยศึกษาไว้ที่จะช่วยลดงบประมาณได้กว่า 9 หมื่นล้านบาท 

ส.อ.ท.เตรียมยื่นสมุดปกขาวเบรครัฐบาลใหม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

และหนึ่งในศักยภาพของการเพิ่มขีดแข่งขันคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ ส.อ.ท.มีความกังวลเพราะมีการหาเสียงไว้ขึ้นแบบก้าวกระโดดไปที่ 450-600 บาทต่อวันจึงควรที่จะเน้นไปที่การเพิ่มค่าแรงจากทักษะฝีมือแรงงานมากกว่า 

ขณะเดียวกันการขึ้นค่าแรงก็ต้องมองควบคู่กับการลดค่าครองชีพด้วยเพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่เมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วค่าครองชีพก็ขึ้นก็จะวนเวียนไปเช่นนี้

“รัฐต้องเข้าใจค่าแรงขั้นต่ำที่จะต้องผ่านการพิจารณาโดยไตรภาคีที่ต้องมองหลายปัจจัย ที่ผ่านมาก็เห็นว่าการขึ้นแบบก้าวกระโดดจะลดขีดแข่งขันของประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI จะลดด้วยและอย่าลืมการขึ้นขั้นต่ำส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่แรงงานจากเพื่อนบ้านและเงินนี้จะหมุนเวียนไม่เต็ม 100% ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะแรงงานเหล่านี้จะกันเงินราว 50% ส่งกลับไปยังบ้านเกิด” 

ส่วนข้อเสนออื่นคือ การสนับสนุนเปิดเสรีไฟฟ้าที่เห็นตรงกับพรรคการเมืองว่าต้องปรับโครงสร้างใหม่เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะระดับนโยบายต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม 

และนโยบายต่างๆที่รัฐบาลเดิมทำได้ดีอยู่แล้วก็อยากให้สานต่อหรือต่อยอด อาทิ การสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG เพื่อยกระดับสินค้าส่งออกของไทยให้เป็นสินค้าสีเขียว การขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)ไปยังภาคต่างๆ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือ (NEC ) ฯลฯ การเจรจาต่างประเทศเพื่อขยายความร่วมมือการค้าเสรีหรือ FTA ใหม่ๆ  โดยเฉพาะFTA กับกลุ่ม GCC  อเมริกาใต้ การลดต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศ เป็นต้น

วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.ยังมองการจัดตั้งรัฐบาลเป็นแบบบวก(Positive) ว่าจะดำเนินการได้และหากมองนโยบายพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยมีหลักการคล้ายกันแต่ต่างวิธีการทำเท่านั้น 

โดยการปรับขึ้นค่าแรงเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ห่วงเพราะหากขึ้นเร็วและก้าวกระโดดจะกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(SME) ขณะที่รายใหญ่มีศักยภาพในการจ่ายเพิ่มอยู่แล้วแต่ก็จะไปหนุนให้ใช้ระบบหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลมากขึ้นซึ่งส.อ.ท.เองไม่ได้คัดค้านการขึ้นแต่อยากให้ตัวเลขสอดคล้องกับข้อเท็จจริงจึงหวังว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะหารือกันบนข้อมูลก่อนตัดสินใจ

“หลายนโยบายเป็นประชานิยมซึ่งทางประธานส.อ.ท.เองก็ระบุไว้ชัดว่าทำได้แต่ต้องพอดี ต้องมีแหล่งที่มาของเงินรายได้ ด้วยซึ่งส.อ.ท.เองยินดีให้ข้อมูลและทำงานร่วมกัน”