“ม็อบโคนม” ปักหลักหน้าทำเนียบ ลุ้น ครม. ขอปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ พรุ่งนี้

08 พ.ค. 2566 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2566 | 13:58 น.
650

มาแน่ “นัยฤทธิ์” ประธานชุมนุมฯ ร่อนหนังสือ ถึง สถานีตำรวจนครนครบาลดุสิต ขอใช้พื้นที่ปักหลักหน้าทำเนียบ ลุ้น มติ ครม. ไฟเขียวปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ วันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) คาดกว่า 600 คน รอคำตอบ

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้ให้นายณัฐวัฒน์ ทองงามขำ ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เดินทางพร้อมหนังสือถึงผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เพื่อขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อชุมนุมเรียกร้องการติดตามการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00-18.00 น. ณ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลโดยจะมีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมจากทั่วประเทศเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าว จำนวน 600 คน และมีการใช้เครื่องขยายเสียง จำนวน 1 เครื่อง

“ม็อบโคนม” ปักหลักหน้าทำเนียบ ลุ้น ครม. ขอปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ พรุ่งนี้

“สืบเนื่องจากที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 25656 มีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 3/2566 ได้มีมติ  ปรับราคาผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนเพิ่มอีก  46 สตางค์ โดยจะให้มีผลตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เป็นราคาใหม่  นมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรส์ 7.35 บาทต่อถุง ,นมโรงเรียน ยู.เอช.ที ราคา 8.59 บาทต่อกล่อง ส่งผลทำให้งบประมาณไม่เพียงพอ”

ทั้งนี้จะขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดซื้อนมโรงเรียนที่มีการปรับเพิ่มราคากลางงบประมาณกว่า 1,444 ล้านบาท
 

จดหมายขออนุญาต เพื่อชุมนุม

นายนัยฤทธิ์ กล่าวว่า  ดังนั้นอยากให้นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดให้นำเข้าที่ประชุม ครม.จากก่อนหน้านี้เคยแจ้งว่า วันที่ 2 พ.ค. 2566 แต่ก็ยังไม่เข้า มาถึงวันที่ 9 พ.ค. ก็แจ้งอีกว่าจะเข้า ดังนั้นทางชุมนุมฯ จึงได้พาเกษตรกร มารอคำตอบจากรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร เพราะการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ ไม่สอดคล้องกับราคากลางนมโรงเรียน ส่งผล ทำให้ "สหกรณ์-เอกชน" ขาดทุนรายวัน ถ้าอยู่ไม่ได้ เกษตรกรก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

อนึ่ง การขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินกว่า 1,444 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน กว่า 1,180 ล้านบาท

2.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน กว่า 153 ล้านบาท

3.กรุงเทพมหานคร จำนวน กว่า 107 ล้านบาท

4.เทศบาลเมืองพัทยา จำนวน กว่า 2.18 ล้านบาท