คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด วันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการทบทวนราคารับซื้อนํ้านมโค ณ ศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2566 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทยจากปัญหาต้นทุนการเลี้ยงโคนมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นราคานํ้านมดิบให้เกษตรกรโคนมในช่วงปลายปี 2565 อีก 1.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ยังไม่สามารถชะลอการเลิกเลี้ยงของเกษตรกรได้ จากอาหารโคนมมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้นตามด้วยนั้น
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนองค์กรเกษตรกรโคนม ภาคสหกรณ์โคนม ได้ทำหนังสือถึงนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด และประธานคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนได้พิจารณาในการดำเนินการปรับราคารับซื้อนํ้านมโค ณ ศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2566 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนมและผู้ประกอบการที่รับซื้อนํ้านมดิบ 3 เรื่องดังนี้
1.ขอให้ประกาศราคารับซื้อนํ้านมโค ณ ศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบ และโรงงานแปรรูป จาก กก. ละ 19 บาท เป็น กก.ละ 21.75 บาท และประกาศรับซื้อนํ้านมโค ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม จากราคานํ้านมดิบกก.ละ 20.50 บาท กก.ละ 22.75 บาท ให้มีผลบังคับใช้พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ตามมติที่ประชุมมิลค์บอร์ด ( 14 มี.ค.66)
2.ขอให้ประกาศของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปี 2566 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ให้ปรับราคากลางจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนเพิ่มขึ้นตามประกาศปรับราคารับซื้อนํ้านมโค ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมที่มีผู้ประกอบการในโครงการนมโรงเรียนที่จะต้องแบกภาระต้นทุนรับซื้อนํ้านมดิบเพิ่มขึ้น กก.ละ 2.25 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี
3.ขอให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เจรจาขอความร่วมมือกับปลัดกระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการปรับราคาผลิตภัณฑ์นม (นมพาณิชย์) ตามมติที่ประชุมมิลค์บอร์ด และขอให้ปลัดพาณิชย์ช่วยควบคุมราคาอาหารสัตว์ไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นอีก จนส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเลี้ยงโคนมและเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพโคนม
นายนัยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า วันนี้นํ้านมดิบขาดตลาด ทำให้มีปัญหานมที่ใช้ในการแปรรูปมีไม่เพียงพอที่ผู้ประกอบการต้องส่งนมให้เด็กในช่วงปิดเทอม ดังนั้นหลักเกณฑ์ที่ออกมาบริหารนมโรงเรียน ไม่ได้ส่งเสริม หรือเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรเลี้ยงเพิ่ม ทั้งเกษตรกร-ผู้ประกอบการ จะไม่โต เพราะนมโรงเรียนมีจำกัดใช้แค่วันละ 1,000 ตันเศษเท่านั้น และมีอีกข้อหนึ่งคือห้ามไม่ให้มีผู้ประกอบการเพิ่ม เช่น ได้จัดสรร 50 ตันต่อวัน ก็จะเป็นอย่างนี้ทุกปี เป็นต้น ซึ่งแบบนี้เป็นการไม่ส่งเสริม แต่หลักเกณฑ์นี้ดีในช่วงนํ้านมดิบขาดตลาด
อย่างไรก็ดีมีนโยบายของพรรคการเมืองเกี่ยวกับนมโรงเรียน เช่น พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ให้เด็กได้อื่มนม 365 วัน และเด็กได้ดื่มนมถึง ม.3 (จากเดิมถึงแค่ ป.6) ซึ่งหากพรรคใดพรรคหนึ่งได้เป็นรัฐบาลและต้องทำตามนโยบาย ตั้งคำถามว่าจะเอานํ้านมดิบจากไหนมาส่ง และข้อเท็จจริงในเวลานี้นมขาดตลาด “อบต.-โรงเรียน” ร้องเรียนไม่มีนมให้เด็กดื่มช่วงปิดเทอม ทั้งที่ปกติแจกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม
“วันนี้ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณนํ้านมดิบจะเพิ่มอย่างไร แต่การบริหารนมโรงเรียนเหมือนบอนไซไม่ให้เติบโต จากที่ผ่านมาหากนํ้านมดิบล้นตลาด เกษตรกรก็ออกมาร้องเรียนทำให้รัฐบาลปวดหัว ปกติช่วงปิดเทอมออกมาเดินขบวนแล้วไม่มีที่ขายนํ้านมดิบช่วงปิดเทอม แต่ปัญหานี้ในรอบ 2 ปี ปัญหาไม่เกิดเลย” นายนัยฤทธิ์ กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,878 วันที่ 13-15 เมษายน พ.ศ. 2566