เร่ง ธ.ก.ส.จ่าย “ประกันรายได้ยางพารา” พฤษภาคม เป้า1.1ล้านราย

06 พ.ค. 2566 | 17:59 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2566 | 22:33 น.
786

"ประกันรายได้ยางพารา" เฟส 4 อืด บิ๊ก กยท. ไขลาน เร่ง ธ.ก.ส. จ่าย พฤษภาคม เป้า 1.1 ล้านราย ชาวสวน ใครยังไม่ได้เงินชดเชยประกันราคายาง เช็คตรวจสอบสิทธิผ่าน chongkho.inbaac.com ด่วน

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ( 28 ก.พ.66) วงเงิน 7,643.86 ล้านบาท มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 ระยะเวลาประกันรายได้รวม 2 เดือน คือ ตุลาคม- พฤศจิกายน 2565 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการโอนให้ชาวสวนยางตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2566 เป็นต้นมา โดยนัดจ่ายทุกวันศุกร์ ดำเนินการมาแล้ว 4 งวด จ่ายให้แก่ชาวสวนยางและคนกรีดยางกว่า 2.5 แสนราย จากโครงการเดิม 3 ปีที่แล้วจ่ายแบบทีเดียว

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

จากยังมีหลายประเด็นข้อสงสัยของชาวสวนยางในโครงการนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อเคลียร์ประเด็นในทุกคำถาม พร้อมรับนโยบายบอร์ด กยท. ให้เร่งจ่ายเร็วขึ้นโดยประสานความร่วมมือกับ ธ.ก.ส.

แจงเหตุ ธ.ก.ส.ทยอยแบ่งจ่าย

นายณกรณ์ กล่าวยืนยันว่า  ธ.ก.ส.มีเงินสำรองและสภาพคล่องอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เข้าใจนโยบายการทยอยจ่ายเงินของ ธ.ก.ส.ว่าทำไมถึงต้องทยอยจ่าย ต่างจากประกันรายได้ยางพาราในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาจะจ่ายทีเดียวพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งกยท.ได้ส่งข้อมูลชาวสวนยางไปให้ทั้งหมดแล้ว

เร่ง ธ.ก.ส.จ่าย “ประกันรายได้ยางพารา” พฤษภาคม เป้า1.1ล้านราย

“ครั้งนี้มีการเปลี่ยนวิธีใหม่ ทั้งที่ผมทำเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่กลับให้ กยท.ทำกำหนดแผนการโอนจ่าย ทุกวันศุกร์ จำนวน 16 งวด ไม่เช่นนั้นจะไม่โอนเงินให้กับชาวสวนยาง ซึ่งในตอนนั้นเราก็ต้องทำ เพราะอยากให้ชาวสวนยางได้รับเงินโดยเร็ว จากเลื่อนมาหลายรอบแล้วก็เข้าใจหัวอก เพราะเป็นเงินที่ควรได้ตามนโยบายรัฐบาล และไม่มีนโยบายแยกโอนเงินเป็นรายจังหวัดอยู่แล้ว จะไปแยกโอนรายจังหวัดเพื่ออะไร ที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำ แต่เดิมก็ทำดีอยู่แล้วไม่โดนด่า”

เร่ง ธ.ก.ส.จ่าย “ประกันรายได้ยางพารา” พฤษภาคม เป้า1.1ล้านราย

นายณกรณ์ กล่าวว่า สาเหตุที่จ่ายเงินประกันรายได้ยางพารา แค่ 2 งวด คือ เดือนตุลาคม และเดือน พฤศจิกายน 2565 จากงบประมาณมีแค่นั้น โดยก่อนหน้านี้ มีจ่ายประกันรายได้ข้าว ( 18,337 ล้านบาท + โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 25655/66 วงเงิน 54,336.14) รวม 72,673.14 ล้านบาท นอกจากนั้นก็มีชาวไร่อ้อย และประกันรายได้อีก 3 พืช ได้แก่ ปาล์มนํ้ามัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ซึ่งยางพารามาหลังสุด โดยมีกระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าของโครงการ ก็ดันโครงการเข้าไปเพื่อขอนุมัติก่อน

 

แต่ในส่วนของยางพารามีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ก็มาขาดตอนช่วงประชุมเอเปค (ปลาย พ.ย.65) พอจะกลับมาประชุมเงินไม่มี จึงทำให้ต้องพิจารณาจากงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งต้องมองให้กว้าง เพราะยังมีอีกหลายโครงการของกระทรวงอื่น ๆ ที่ต้องใช้เงินด้วย แต่ก็ได้ผลักดันอย่างเต็มที่

 

คาดโอนเงิน 1.1 ล้านราย พ.ค.นี้

ทั้งนี้คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และเป็นเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 1.6 ล้านราย รวมพื้นที่สวนยางกรีดได้ 18.18 ล้านไร่ ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเดิม อาทิ 1.เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ 2.ราคายางที่ประกันรายได้ มีดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม(กก.) นํ้ายางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. 3.แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของเงินค่าประกันรายได้

เร่ง ธ.ก.ส.จ่าย “ประกันรายได้ยางพารา” พฤษภาคม เป้า1.1ล้านราย

สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านมา 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 วงเงินสะสมโครงการรวมทั้งสิ้น 46,682.88 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้ปีละ 1.4 ล้านราย พื้นที่ 18.4 ล้านไร่

เร่ง ธ.ก.ส.จ่าย “ประกันรายได้ยางพารา” พฤษภาคม เป้า1.1ล้านราย

นายณกรณ์ กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการหารือกับ ธ.ก.ส. (3 พ.ค.66) มีผลสรุปจะช่วยเร่งรัดการจ่ายเงินให้เร็วเป้าหมาย  80% เดือน พ.ค.นี้  เมื่อคำนวณ 80% จากชาวสวนยางประมาณ กว่า 1.4 ล้านราย คาดว่าธ.ก.ส.จะโอนภายในเดือนนี้ประมาณกว่า 1.1 ล้านราย ก็จะทำให้การจ่ายเงินเร็วขึ้น โดยรับนโยบายจากบอร์ด กยท. ประสานความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. เสนอให้จ่ายสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

 

ทบทวนเก็บภาษีปลูกยาง

 นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า จากระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพืชเกษตร หมวดยาง ในวงเล็บ 35 จะต้องปลูกยางไม่น้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ จะถือว่าเพื่อการเกษตร แต่ถ้าไม่ถึง 80 ต้นต่อไร่จะต้องเสียภาษีอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร

เร่ง ธ.ก.ส.จ่าย “ประกันรายได้ยางพารา” พฤษภาคม เป้า1.1ล้านราย

“การกำหนดต้นยางพารากี่ไร่ ไม่แน่ใจว่าไปเอามาจากไหน เพราะตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จำกัดความคำว่า “สวนยาง” หมายความถึงที่ดินปลูกต้นยางเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ แต่ละไร่มีต้นยางปลูก ไม่น้อยกว่า 10 ต้น และโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น ซึ่งจะขัดในข้อกำหนดของกฎหมายตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เรื่องนี้จะต้องเข้าไปคุยอธิบายเพื่อให้ทบทวนใหม่ อย่างไรก็ดีมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย นั่งอยู่ในบอร์ด กยท. ด้วยก็จะมีการหารือเพื่อลดผลกระทบกับพี่น้องชาวสวนยางต่อไป”

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,885 วันที่ 7-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566