กนง.มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2% พ.ค.นี้ เงินเฟ้อสูงกดดัน

03 พ.ค. 2566 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 13:37 น.

วิจัยกรุงศรี ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ส่งออกหดตัวน้อยกว่าคาด ประกอบกับเงินเฟ้อที่อาจทรงตัวระดับสูง หนุน กนง.มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.00% ในวันที่ 31 พ.ค.นี้

วิจัยกรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ ( 3 พ.ค.66 ) ว่า การส่งออก เดือนมีนาคมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 1 ปี กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนมีนาคมอยู่ที่ 27.7 พันล้านดอลลาร์ หดตัว 4.2% YoY ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัวที่ 14% และหากหักน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกขยายตัวที่ 1.3%

โดยการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ปรับดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงในตลาดจีน อาเซียน และ CLMV และบางตลาดสำคัญเริ่มกลับมาขยายตัว อาทิ สหรัฐ และญี่ปุ่น ด้านการส่งออกรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ 4.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 5.9%

 

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญที่ยังขยายตัวได้ในเดือนมีนาคม อาทิ รถยนต์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศ ด้านดุลการค้าเดือนมีนาคมกลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ที่ 2.72 พันล้านดอลลาร์  

มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมมีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยมีมูลค่าส่งออกเกือบแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์รองจากเดือนมีนาคมปี 2565 ที่ 28.9 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 70.3 พันล้านดอลลาร์ หดตัว 4.5%YoY

ทั้งนี้ การส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังมีผลบวกจากการเปิดประเทศของจีน การคลี่คลายลงของภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ยังเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของภาคการผลิตของโลก การชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศเศรษฐกิจหลักที่ได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดและมีปัญหาในสถาบันการเงิน วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 อาจเติบโตเพียง 0.5%
 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนมีนาคมยังคงได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนมีนาคมขยายตัวที่ 6.0%YoY นำโดยการใช้จ่ายในภาคบริการที่เติบโตตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทนชะลอลงเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนการลงทุนภาคเอกชนกลับมาหดตัวที่ 1.6% โดยลดลงทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ด้านต่างประเทศมูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยอยู่ที่ 2.22 ล้านคน จาก 2.11 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์

เครื่องชี้เศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสแรกของปี 2566 สะท้อนทิศทางที่ขยายตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ส่งผลให้ภาคบริการและการใช้จ่ายในประเทศปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงมาต่ำกว่า 1.0% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นแม้จะยังหดตัวอยู่ก็ตาม

สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน ข้อความในจดหมายเปิดผนึกที่ธปท.ชี้แจงต่อกระทรวงการคลังระบุว่า “การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีความเหมาะสมในบริบทปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามโดยเฉพาะจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ (Demand-pull-inflation) ที่อาจเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้  จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวและตัวเลขการส่งออกที่ดีเกินคาด ประกอบกับมุมมองล่าสุดของธปท.ซึ่งระบุถึงความกังวลเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ปัจจัยเหล่านี้บ่งชี้ว่ากนง.มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 1.75% เป็น 2.00% ในการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคมนี้