รัฐบาลแจงยิบ "ค่าไฟแพง" สารพัดเหตุปัจจัยนอกเหนือการควบคุม

24 เม.ย. 2566 | 16:59 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 16:59 น.

รัฐบาลแจงยิบ "ค่าไฟแพง" เกิดจากสาเหตุที่นอกเหนือการควบคุม เช่น วิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และโครงการผูกพันระยะยาว ตั้งแต่ปี 2555 เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย้ำ ปรับปรุงแผน PDP แล้ว

จากสถานการณ์ "ค่าไฟแพง" ทำให้ประชาชน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบ ต่างออกมาตั้งคำถามถึงสาเหตุของค่าไฟ ที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงาน ออกมาชี้แจงต่อประชาชนอย่างเร่งด่วนนั้น

ล่าสุด นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึง โครงสร้างค่าไฟฟ้าว่า โครงสร้างค่าไฟฟ้า ปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้นได้ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย หรือ Power Development Plan (PDP) ฉบับปี 2010 โดยได้ประมาณการความต้องการไฟฟ้าใหม่ตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไทย ขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 4 – 5 ตั้งแต่ปี 2555 – 2569

รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้เพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ก๊าซธรรมชาติ) เข้าไปในแผน PDP 2010 รวมถึงโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producer: IPP) 5,400 MW โดยจ่ายไฟเข้าระบบ ระหว่างปี 2564 – 2569 ปีละ 900 MW เพื่อให้รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้า ภายใต้ประมาณการว่าการสำรอง (Reserve) ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 - 24

ค่าไฟฟ้าแพง

เดือนพฤษภาคม 2557 ในยุค รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ได้ทบทวนโครงการโรงไฟฟ้า IPP 5,400 MWแล้ว แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงการที่มีการลงนามผูกพันไปแล้วได้ จึงได้สั่งการให้ทบทวนแผน PDP ใหม่อีกครั้ง และได้จัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ขึ้น โดยฉบับล่าสุดคือ แผน PDP 2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เมื่อปี 2563 โดยพบปัญหาของแผน PDP

3 ปัญหา ของแผน PDP 

1. อัตราความต้องการใช้พลังงานไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ประมาณการไว้ ซึ่งทำให้ Reserve Margin % ณ ปี 2558 ที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 กลายเป็นร้อยละ 30 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

2. โรงไฟฟ้าที่อนุมัติไปทั้งหมดก่อนหน้านี้ รัฐบาลต้องจ่ายค่าความพร้อม หรือ Availability Payment (AP) โดยกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างชัดเจน และเป็นสัญญาระยะยาว

3. แผนจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานน้ำมีจำกัด และมีการเพิ่มพลังงานจาก fossil ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

นายอนุชา ได้กล่าวถึงช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างปี 2563 – 2565 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงกว่าที่ประมาณการไว้ แต่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ตาม แผน PDP ได้ผูกมัดไว้หมดแล้ว ทำให้ประเทศไทยมี POWER SUPPLY ตามแผน แต่ POWER DEMAND ต่ำกว่าแผน ส่งผลให้ RESERVE MARGIN ยังสูงอยู่ และส่วนหนึ่งมีผลกระทบต่อค่าไฟในภาพรวม

อีกทั้ง ในช่วงปลายปี 2564 – ปัจจุบัน ได้เกิดวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติอย่างมาก ส่งผลให้ค่าไฟในส่วนของค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น สะท้อนในค่า Ft ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล

ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผน PDP 2018 จะส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2570 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 28 ในปี 2569 เหลือร้อยละ 14 ในปี 2580 เป็นการวางแผนลดปริมาณการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อค่าไฟระยะยาว