เลือกผู้สืบทอด ธุรกิจครอบครัวอย่างไรดี (1)

22 เม.ย. 2566 | 05:37 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 13:27 น.

เลือกผู้สืบทอด ธุรกิจครอบครัวอย่างไรดี (1) คอลัมน์ Designing Your Family Business โดย รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

การคัดเลือกผู้สืบทอดกิจการมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากแผนงานในอนาคตของธุรกิจส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ คำถามคือควรมองหาอะไรจากซีอีโอคนใหม่ และจะรู้ได้อย่างไรว่าเลือกถูกคนแล้ว ทั้งนี้การวางแผนการสืบทอดกิจการเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก ด้วยว่าไม่มีอะไรที่สร้างความวุ่นวายได้เท่ากับการที่เจ้าของวางมือจากธุรกิจ ซึ่งหากดำเนินการผิดวิธี ข่าวนี้อาจจะส่งผลให้พนักงานสับสน เสียใจ และเกิดความไม่ไว้วางใจได้

ดังนั้นหากผู้นำคนปัจจุบันกำลังจะเกษียณในอีกประมาณ 5-7 ปีข้างหน้า ก็ถึงเวลาที่ควรจะต้องเริ่มกระบวนการคัดเลือกและโฟกัสที่การบ่มเพาะผู้สืบทอดได้แล้ว อย่าลืมว่าท่านจะไม่พบซีอีโอคนใหม่ที่เหมาะสมภายในชั่วเวลาข้ามคืน และอย่าคิดเอาเองว่าลูกจะต้องการรับช่วงต่อธุรกิจเสมอไป

เลือกผู้สืบทอด ธุรกิจครอบครัวอย่างไรดี (1)

แน่นอนว่าไม่ใช่ลูกทุกคนที่พร้อมหรือเต็มใจที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อแม่ ดังนั้นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวจึงแนะเคล็ดลับ 5 ข้อต่อไปนี้เพื่อช่วยในตัดสินใจว่าใครจะเข้ามาทำหน้าที่แทนท่านในธุรกิจครอบครัว

1. พิจารณาว่าธุรกิจต้องการอะไร แทนที่จะเริ่มด้วยการลิสต์รายชื่อคน ควรเริ่มด้วยการลิสต์รายการคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะที่กำลังมองหาในตัวผู้สืบทอด ธุรกิจต้องการอะไรจากผู้นำคนใหม่ คนที่มีวิสัยทัศน์ คนที่ใส่ใจในรายละเอียด หรือมือโปรที่ช่ำชอง เนื่องจากทิศทางของบริษัทขึ้นอยู่กับบุคคลที่จะมาดูแลต่อไป

ดังนั้นการตัดสินใจเรื่องนี้จึงต้องใช้ความคิดและการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ รวมถึงพิจารณาเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจด้วย ซึ่งจำเป็นต้องให้ซีอีโอคนใหม่ทำความคุ้นเคยกับเป้าหมายเหล่านี้เป็นอย่างดีและเตรียมพร้อมที่จะช่วยให้ทำบรรลุเป้าหมายต่อไป

นอกจากนี้พิจารณาว่ามีทักษะหรือคุณสมบัติใดที่แคนดิเดตควรมีอยู่แล้ว หรือท่านกำลังมองหาคนที่สามารถพัฒนาตัวเองเพื่อตำแหน่งนี้ได้ โปรดจำไว้ว่าไม่เป็นไรเลยหากสไตล์ความเป็นผู้นำและวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตไม่เหมือนผู้นำคนปัจจุบัน เพราะท่านกำลังมองหาคนที่สามารถเป็นผู้นำในแนวทางที่ท่านและทีมผู้นำวางแผนไว้ให้บริษัทได้สำเร็จต่างหาก นั่นเป็นเหตุผลว่าเหตุใดการเลือกคนที่มีความซื่อสัตย์ และมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

2. การให้ครอบครัวมีส่วนร่วม ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะส่งต่อธุรกิจให้กับลูกหลาน แต่นี่คือสิ่งที่เจ้าตัวได้เคยพูดคุยกับลูกๆจริงๆหรือไม่ บ่อยครั้งที่ความคิดนี้ไม่เคยถูกสื่อสารออกไปกับผู้อื่นอย่างจริงจัง ดังนั้นก่อนที่จะคิดว่าแผนการสืบทอดกิจการเป็นเรื่องยาก

ควรมีการพูดคุยกับครอบครัวและประเมินความสนใจของพวกเขา ซึ่งหากลูกๆ ของท่านโตแล้วและย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด พวกเขาอาจไม่อยากพาชีวิตกลับมาอยู่ที่ย่านธุรกิจนี้ก็เป็นได้ โปรดจงเอาใจเขามาใส่ใจเราและตระหนักถึงอุปสรรคหรือความลังเลใจที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลนานาประการ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,880 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2566