ทำอย่างไร เมื่อลูกรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวแล้ว แต่พ่อแม่ไม่ยอมวางมือสักที

16 เม.ย. 2566 | 12:21 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2566 | 12:27 น.

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

เมื่อลูกเข้ารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวแล้ว แต่ดูเหมือนพ่อแม่ยังไม่ได้วางมือจากบริษัทอย่างแท้จริง กล่าวคือทั้งพ่อและแม่ หรือเพียงพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง ยังคงดำเนินงานประจำวันอยู่แม้ว่าจะไม่ควรทำอีกต่อไปแล้วก็ตาม สิ่งนี้จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่สับสนในหมู่พนักงาน ยิ่งไปกว่านั้นลูกจะไม่มีอำนาจอย่างเต็มที่และไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควรจะเป็นอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วเมื่อลูกเข้ามารับช่วงบริหารธุรกิจครอบครัวแล้ว พ่อแม่มักจะยอมอยู่นิ่งๆ สักพัก แต่หากพ่อแม่ยังคงแสดงตัวและมีส่วนร่วมในบริษัทต่อไปตามปกติ อาจสร้างปัญหาได้หลายประการ โดยประการแรกและสำคัญที่สุดคือความจริงที่ว่าผู้สืบทอดไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง

ทำอย่างไร เมื่อลูกรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวแล้ว แต่พ่อแม่ไม่ยอมวางมือสักที

บทบาทของพวกเขาจะถูกมองข้าม ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายใจหรือไม่มีอำนาจทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของพนักงานส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ประเภทนี้เช่นกัน กล่าวคือพ่อแม่สร้างสถานการณ์ที่น่าอึดอัดและไม่สบายใจให้กับทุกฝ่าย

หากใครกำลังประสบกับสถานการณ์เช่นนี้ คงรู้สึกไม่มีความสุขเช่นเดียวกัน แม้จะซาบซึ้งกับผลงานในอดีตและปัจจุบันของพ่อแม่ แต่ตอนนี้คุณคือผู้นำที่ควรจะทำธุรกิจนี้ด้วยตัวเอง ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้

ต้องมีการพูดคุยกับพ่อแม่ แม้เป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการทำหรือกระตือรือร้นที่จะลงมือทำ แต่จำเป็นจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังและตั้งใจ โดยทำความเข้าใจว่าคุณซาบซึ้งมากเพียงใดกับทุกสิ่งที่พ่อแม่ทำ และรู้สึกขอบคุณเหลือเกินกับความช่วยเหลือลูกด้วยความห่วงใย แต่ลูกต้องรับตำแหน่งที่พ่อแม่ส่งต่อให้และบริหารด้วยตัวเองเพื่อให้เกียรติกับมรดกอันมีค่านี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือปฏิบัติต่อพ่อแม่ด้วยความเคารพและเปิดทางให้พวกท่านก้าวออกจากบริษัทอย่างสง่างาม

พูดคุยกับพนักงาน ขึ้นต่อไปอาจจำเป็นต้องพูดคุยกับพนักงานในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือตอนนี้คุณเป็นผู้รับผิดชอบธุรกิจและพนักงานควรให้ความเคารพเชื่อฟังคุณ อย่างไรก็ตามควรให้เวลากับพวกเขาสักหน่อยเพราะหากพ่อแม่ยังคงมีส่วนร่วมเล็กน้อยในบริษัท พนักงานจะยังรู้สึกคุ้นเคยที่จะต้องฟังผู้นำเดิมอยู่ ทั้งนี้การให้เวลาปรับตัวเพิ่มสักเล็กน้อย จะส่งผลให้พลวัตทั้งหมดเปลี่ยนไปและพนักงานจะเคารพตำแหน่งของคุณในฐานะหัวหน้าบริษัท

อัพเดทสถานการณ์กับคู่ค้าทางธุรกิจทั้งหมด สถานการณ์ในข้างต้นจะเกิดขึ้นกับคู่ค้าทางธุรกิจเช่นกัน เนื่องจากพวกเขามีความสัมพันธ์อันยาวนานกับพ่อแม่ จึงจะรู้สึกสบายใจในการทำธุรกิจกับพ่อแม่มากกว่าลูก ดังนั้นควรมีการพูดคุยและอัพเดทสถานการณ์ปัจจุบันเช่นเดียวกับกรณีของพนักงาน หลังจากนั้นสิ่งต่างๆก็จะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นทีละน้อย อีกวิธีหนึ่งในการทำให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่นขึ้น คืออย่าเพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น (อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่รอได้) ซึ่งด้วยวิธีนี้พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกเหมือนกับว่าพวกท่านทำอะไรผิด หรือเห็นว่าลูกรู้สึกอยากที่จะเร่งทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่พ่อแม่เคยต่อต้านมาก่อน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้วางใจได้

แม้เจ้าของธุรกิจมักจะทำเงินได้มากขึ้นจากการขายบริษัทให้กับบุคคลที่สาม แต่หลายคนต้องการให้บริษัทยังคงเป็นของครอบครัวต่อไป โดยเฉพาะหากเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตและเจริญรุ่งเรือง หากลูกๆเข้าร่วมในธุรกิจด้วยความยินดีและพร้อมด้วยความรู้ความสามารถ การมอบให้ธุรกิจแก่ลูกจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย

ที่มา: Waters Business Consulting Group. October 14, 2020. I TOOK OVER THE FAMILY BUSINESS BUT MY PARENTS WON’T LET ME RUN IT. Available:

https://watersbusinessconsulting.com/2020/10/14/i-took-over-the-family-business-but-my-parents-wont-let-me-run-it/

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,878 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2566