แจก 1 หมื่น ช่วยกระตุ้น ศก. 9 แสนล้าน 4 จุดอ่อนอาจทำพลาดเป้า

15 เม.ย. 2566 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2566 | 11:25 น.

นักวิชาการชี้แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาททั่วไทย หากทำได้จริง คาดช่วยเศรษฐกิจหมุน 2 รอบ 8-9 แสนล้าน บวกเม็ดเงินภาคท่องเที่ยวทำให้ GDP ไทยปีนี้มีโอกาสโตถึง 5% ชี้ 4 ข้อควรระวังทำพลาดเป้า ก่อภาระการคลังเพิ่ม

เป็นประเด็นร้อน เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่มรับศึกเลือกตั้งไปทั่วประเทศ กับนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศจะแจกเงินให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 55 ล้านคน คาดใช้เงินกว่า 5.5 แสนล้านบาท พรรคการเมืองคู่แข่งและประชาชนคนทั่วไปตั้งคำถามจะเอาเงินมาจากไหน ทำได้จริงหรือไม่ รัฐต้องกู้เพิ่มหรือไม่ ต้องออกกฎหมายรองรับหรือไม่ เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ ฯลฯ อย่างไรก็ตามในมุมมองนักวิชาการระบุนโยบายนี้เป็นประโยชน์ แต่ก็มีประเด็นที่ต้องพึงระวัง

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย หากสามารถขับเคลื่อนได้จริงและไม่มีปัญหา ประเมินว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยหมุนเวียนได้อย่างน้อย 2 รอบ รอบแรกเป็นเงินที่ใส่เข้าไปในกระเป๋า 5.5 แสนล้าน จะส่งผลให้เกิดการบริโภคของประชาชน การลงทุนของภาคธุรกิจ และทำให้มีผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น และรอบที่ 2 เมื่อรายได้เพิ่มจาก GDP ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดการบริโภคหมุนอีกรอบ โดยรวมแล้วจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 8-9 แสนล้านบาท

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

“นโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.4% ถึง 1% อย่างไรก็ดีนโยบายนี้เพียงนโยบายเดียวคงไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ถึง 5% แต่ก็ใกล้เคียง โดยจากเดิม GDP ไทยคาดจะขยายตัว 3.7% (คาดการณ์โดย IMF, ม.ค.2566) บวกอีก 1% (จากเม็ดเงินดิจิทัล) GDP ไทยจะขยายตัวได้ 4.7% และหากบวกกับเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ปีนี้ GDP ไทยมีโอกาสโตถึง 5%

อย่างไรก็ตามมี 4 ประเด็นที่อาจทำให้นโยบายนี้มีปัญหาไม่เป็นไปตามเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 100% ได้แก่ 1.คนที่อยู่ห่างไกลในต่างจังหวัดในรัศมี 4 กิโลเมตรตามบัตรประชาชน แต่ไม่มีร้านค้า หรือไม่มีช่องทางการใช้เงิน 2.คนที่มีอายุ 16 ปี แต่มีเงินและมีฐานะอยู่แล้ว อาจไม่ใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท 3.คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และใช้แอปไม่เป็น และ 4.ร้านค้าพร้อมสำหรับการรับชำระเงินดิจิทัลหรือไม่

แจก 1 หมื่น ช่วยกระตุ้น ศก. 9 แสนล้าน 4 จุดอ่อนอาจทำพลาดเป้า

นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย นั้นในเชิงเทคนิคทำได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะเป็นการเปลี่ยนช่องทางการอุดหนุนเงินให้ประชาชน ซึ่งจากเดิมรัฐบาลเติมเงินเข้าแอปเป๋าตัง ส่วนเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้กับประชาชนหรือไม่นั้นมองว่าคนไทยมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว ทั้งพร้อมเพย์ และเป๋าตัง ขณะที่เรื่องงบประมาณนั้นเป็นเรื่องของพรรคที่ทำการหาเสียงไว้ หากได้เป็นรัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณมา ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ในแง่ของเทคโนโลยี ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของประชาชน โดยอยากเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลให้กับคนไทย อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะนำงบประมาณมาจากไหน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

ขณะที่ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการแจกเงินให้กับประชาชนโดยตรง เป็นมาตรการ Income Transfers (การโอนรายได้)ให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ โดยกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ออกแบบมาให้ใช้ Token หรือ Digital Coin ในชุมชนรัศมี 4 กิโลเมตร (พรรคเพื่อไทยระบุถ้าไม่มีร้านค้าระแวก นั้นสามารถขยายรัศมีได้) ทำให้แก้ปัญหารับโอนเงินจากรัฐแล้วนำไปซื้อสินค้าในเครือข่ายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ทำให้เม็ดเงินกระจายไปยังเครือข่ายร้านค้าชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าและจ้างงานสาธารณะได้ดีกว่า เป็นการปิดจุดอ่อนของมาตรการแจกเงินที่เคยทำมา

“ข้อควรระวังของนโยบายในลักษณะการโอนเงินหรือแลกเงินไม่ว่าจะใช้ฐานคิดหรือวิธีการแบบไหนคือ หากเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย หรือไม่สามารถจัดเก็บภาษีมาสนับสนุนได้มากพอ และต้องก่อหนี้อาจเกิดความเสี่ยงทางการคลังได้ เพราะนโยบายนี้ใช้เม็ดเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลต้องพยายามเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เพิ่มให้ได้อย่างน้อย 2 แสนล้านบาท และภาษีอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้การกู้เงินจำนวนมาก ๆ มาสนับสนุนโครงการลดลง”

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช กล่าวตอนท้าย ถึงนโยบายของรัฐบาลที่อยากเห็น ที่จะช่วยให้กำลังซื้อ และเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน และไม่ทำให้ประชาชนเสพติดประชานิยม ได้แก่ 1.เพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตร และ SMEs ผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐาน กติกาโลก และเทรนด์ธุรกิจโลก 2.ลดค่าครองชีพประชาชน จากราคาสินค้าที่สูง โดยให้ไปดูโครงสร้างต้นทุนการผลิตของสินค้าแต่ละประเภท หาแหล่งวัตถุดิบที่ถูก ลดการนำเข้า ส่งเสริมให้ผลิตเองได้ภายในประเทศ และ 3 ประกาศว่า ประเทศไทยจะเป็นอะไรในอีก 4 ปีนับจากนี้หากท่านได้เป็นรัฐบาล และจะทำนโยบายอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ขณะเดียวกันข้อเสนอแนะนโยบายภาคการเกษตรที่ช่วงที่ผ่านมาในทุกรัฐบาลได้นำเงินไปอุดหนุนจำนวนมาก แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มผลิตภาพ และมูลค่าเพิ่มสินค้าได้มากนัก เช่น ควรนำเงินไปช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ สร้างแรงจูงใจในการลดต้นทุน สนับสนุนตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ ที่อาจถูกนำใช้เป็นมาตรการกีดกันการค้า, บริหารจัดการน้ำ เช่นสร้างแหล่งน้ำ ขุดบ่อ เพื่อทำการเกษตรได้ทั้งปี 3.ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรที่มีตลาดรองรับ สร้างมูลค่าเพิ่ม และทำตามเทรนด์ของโลก เป็นต้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3879 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2566