รถไฟไม่แก้แบบทางคู่เข้าเมืองอุดรฯเอกชนฮึ่มฟ้องศาลปกครอง

09 เม.ย. 2566 | 20:36 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2566 | 20:45 น.
680

เอกชนฮึ่ม ไม่แก้เแบบรถไฟทางคู่แยกบ้านจั่นอุดรฯ เจอกันที่ศาลปกครอง ด้านรฟท.ยันเดินหน้าก่อสร้างระดับดินแบบเดิม อ้างกรมทางหลวงออกแบบสะพานยกระดับรองรับแล้ว 

วันที่ 3 เม.ย.2566 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์)  ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายศรัณย์ศักดิ์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี  เป็นประธานการประชุมชี้แจงแผนการดำเนินการ และแนวทางการแก้ไขโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ ระยะขอนแก่น-หนองคาย ช่วงที่ผ่านจุดตัดทางเลี่ยงเมืองอุดรธานี (สี่แยกบ้านจั่น) อ.เมืองอุดรธานี  

โดยมีนายเอนก สุวรรณภูเต รองผู้อำนวยการ สำนักงานทางหลวงที่ 7 นายศักดา เกตุแก้ว รองนายก  อบจ.อุดรธานี พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒน์สุวรรณ  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี  นายวรายุทธ  คงประสานการ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดอุดรธานี  นายชัยฤทธิ์ เขาวงทอง ตัวแทนประชาชน ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่งเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ พร้อมบริษัทที่ปรึกษา เข้าร่วมเป็นครั้งแรก  รวมถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 

กรมทางหลวงออกแบบทางยกระดับข้ามทางรถไฟ กรณีรางรถไฟทางคู่เป็นระดับดิน

ครั้งนี้เป็นการประชุมพูดคุยปรึกษาหารือ ในประเด็นปัญหาโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ขอนแก่น – หนองคาย ในช่วงจุดตัดทางเลี่ยงเมือง หมายเลข 216 (สี่แยกบ้านจั่น อ.เมืองอุดรธานี)   ซึ่งทางรฟท.ออกแบบเป็นทางระดับดิน ขณะที่ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องและแสดงพลัง ให้รฟท.ปรับแบบก่อสร้าง เป็นทางยกระดับเหนือพื้นดินตั้งแต่ก่อนเข้ามาในตัวเมืองอุดรธานี ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา และให้ดำเนินการให้เกิดความชัดเจน จึงได้เชิญผู้แทน รฟท.  ผู้แทนกรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือ 

การเรียกร้องนี้มีมายาวนานตั้งแต่ปี 2564 ทั้งภาคเอกชนในพื้นที่อุดรธานี ตลอดจนชุมชนแนวทางรถ และพื้นที่จุดตัดสี่แยกบ้านจั่น ออกมาคัดค้านแบบก่อสร้างของรฟท. และบริษัทที่ปรึกษา ที่ต้องมีการปิดกั้นบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 216 กับทางรถฟในปัจจุบัน  โดยเห็นว่าจะสร้างความเดือดร้อนในการสัญจรของยานพาหนะจากจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสาน ตลอดจนจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องสัญจรผ่านจุดดังกล่าววันละหลายหมื่นคัน พร้อมเรียกร้องให้รฟท.ก่อสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองอุดรธานี แล้วไปลงสู่ระดับพื้นดินที่บริเวณ ต.กุดสระ 

ขณะเดียวกัน กรมทางหลวงก็ออกแบบทางยกระดับบริเวณยกบ้านจั่น กรณีก่อสร้างรางรถไฟทางคู่แบบยกระดับไว้ประกอบการพิจารณาด้วย

แต่ล่าสุด รฟท.มีหนังสือลงวันที่ 9 ก.พ. 2566 ระบุว่า ได้ออกแบบเป็นทางรถไฟระดับดิน  เนื่องจากจุดตัดดังกล่าว กรมทางหลวงออกแบบแก้ไขปัญหาจุดตัดดังกล่าว เป็นรูปแบบสะพานรถยนต์ยกระดับข้ามทางรถไฟ และยืนยันว่า ไม่สามารถแก้ไขแบบก่อสร้างได้

อีกสาเหตุที่รฟท.ไม่ต้องการปรับแบบเป็นทางยกระดับ เนื่องจากปัจจุบันรฟท. ให้บริการขนส่งปูนซีเมนต์ให้กับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) โดยมีศูนย์จ่ายปูนซีเมนต์ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีหนองขอนกว้าง ซึ่งอยู่ห่างจากจุดตัดดังกล่าวประมาณ 600 ม. จึงจำเป็นต้องออกแบบให้เป็นทางรถไฟระดับดิน เพื่อทำให้สามารถดำเนินการขนส่งปูนซีเมนต์ได้ตามปกติ 

ทั้งนี้  นายศรัณย์ศักดิ์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าฯอุดรธานนี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ยังเป็นเหมือนรถไฟทางคู่ คือยังอยู่กันคนละฝั่ง ในฐานะที่รองผู้ว่าฯ ก็เป็นคนอุดรธานีด้วยเหมือนกัน ก็รู้สึกหนักใจ แต่เชื่อว่าจะมีทางออกร่วมกันได้  จึงขอให้ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่ นำข้อเสนอไปทบทวน และหาแนวทางร่วมกันเพื่อจะดำเนินการต่อไปได้ โดยจะนัดประชุมกันอีกครั้งเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป 

ด้านนายเอนก สุวรรณภูเต  รองผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 7 กล่าวว่า สำหรับกรมทางหลวงเอง ได้เตรียมการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่จุดตัดสี่แยกบ้านจั่น โดยเบื้องต้นได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ทำการศึกษาออกแบบสะพานข้ามต่างระดับเอาไว้แล้ว ต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะของภูมิประเทศ ให้เกิดการเหมาะสมกับตัวของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ  ซึ่งทางกรมทางหลวง ในฐานะที่สังกัดอยู่ในกระทรวงคมนาคมเช่นกัน คิดว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันหาแนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันไปด้วยดี 

พ.ท.วรายุส์  ตรีวัฒน์สุวรรณ  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี  เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันระหว่างจังหวัด ภาคเอกชน หน่วยงานกับตัวแทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่งตัวแทนที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเข้าร่วมประชุม  ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะทั้งภาคเอกชน และตัวแทน รฟท. ยังยืนยันจุดยืนเดิมของฝ่ายตน  ทำให้รองผู้ว่าฯ ที่เป็นประธานที่ประชุม ให้ถือว่าการประชุมร่วมกันครั้งนี้ เป็นการที่ทุกฝ่ายให้ข้อมูลกันและกัน 

ทั้งนี้ฝ่ายเอกชน มีความเห็นที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ในการแก้ไขปัญหาขัดแย้งดังกล่าว คือ ให้รถไฟยกระดับรางขึ้นเหนือพื้นดิน เริ่มตั้งแต่สถานีหนองตะไก้ ต.โนนสูง  ผ่านตัวเมืองอุดรธานี ไปลดลงอยู่ในระดับพื้นดินในจุดที่เหมาะสม  

ส่วนรางรถไฟที่อยู่ระดับพื้นดินที่ใช้ขนปูนซีเมนต์ไปส่งที่ศูนย์ปูนซีเมนต์ของ บริษัท TPI จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่สถานีหนองขอนกว้าง ก็ให้คงไว้ส่วนหนึ่งตั้งแต่สถานีหนองตะไก้ จนถึงสถานีหนองขอนกว้าง  เพื่อใช้ในการขนปูนจากสถานีหนองตะไก้  ซึ่งในแต่ละวันจะมีขบวนรถขนปูนซีเมนต์ของ TPI เพียงวันละ 1-2 เที่ยวเท่านั้น 

ทั้งนี้ ข้อเสนอให้เป็นทางรถไฟยกระดับของภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ยังจะทำให้การรถไฟฯ มีพื้นที่ว่างเพิ่ม จากบริเวณสถานีหนองขอนกว้าง ไปจนถึงจุดที่รถไฟจะลดระดับลงสู่พื้นดิน เป็นจำนวนมาก  สามารถนำไปพัฒนาสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ขณะที่การยืนยันให้เป็นทางรถไฟระดับดินเหมือนเดิมเพื่อการขนปูนซีเมนต์ ทำให้ชี้ชัดว่าโครงการเอื้อต่อบริษัทเอกชนรายใหญ่เพียงรายเดียว 

ฝ่ายเอกชนอุดรธานีพร้อมปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน แตีหากยังไม่สามารถหาข้อยุติปัญหากันได้  โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย  ยังยืนยันที่จะทำการก่อสร้างในรูปแบบเดิมที่ออกแบบเอาไว้แล้ว ทางภาคเอกชนก็มีความเห็นร่วมกันว่า ก็จำเป็นที่ต้องพึงอำนาจศาลปกครอง  ซึ่งในขณะนี้ฝ่ายเอกชนยังหวังว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย น่าจะมีแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป พ.ท.วรายุส์ฯกล่าว 

ด้านนายวรายุทธ  คงประสานการ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า  ทางหอการค้าจังหวัดอุดรธานี มีความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน คือ ต้องการให้การรถไฟฯ เปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างทาฃรถไฟในขุดที่มีปัญหา ให้เป็นแบบยกระดับเหนือพื้นดินผ่านตัวเมืองอุดรธานี  พร้อมกันนี้ในที่ประชุม ได้เสนอข้อคิดเห็นถึงบริษัท TPI จำกัด ที่เป็นเอกชนเช่นกันว่า ขอให้ทางบริษัทปรับแผนในการบริหารจัดการรับ-ส่งปูนซีเมนต์ให้เกิดความเหมาะสม เช่น การให้คงรางรถไฟเอาไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อทำการขนปูนซีเมนต์เข้าไปยังศูนย์รับปูนที่สถานีหนองขอนกว้าง ซึ่งในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมทุก ๆ ฝ่าย  เพราะการขนปูนไปยังศูนย์รับปูน เพียงวันละ 2 เที่ยวเท่านั้น 

นายชัยฤทธิ์  เขาวงศ์ทอง ตัวแทนประชาชนและเป็นคนริ่เริ่ม นำปัญหาดังกล่าวขึ้นร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เอกชน ประชาชน หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ได้มีการดำเนินแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ และขอให้การรถไฟไปทำการทบทวนรูปแบบการก่อสร้างบริเวณจุดตัดดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีการตอบรับ 

นอกจากนี้แล้ว การที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ส่งตัวแทนของการรถไฟเข้าร่วมประชุม ที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ที่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจได้ ก็ยังชี้ให้เห็นว่าการรถไฟฯ ไม่ได้ความสำคัญ ในการที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน และแสดงความไม่จริงใจที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา  หากว่าการรถไฟ ยังยืนยันในรูปแบบเดิม ภาคเอกชนและประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี จำเป็นที่จะต้องยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งให้แก้ไข  หรือให้ยุติโครงการดังกล่าว