รู้จักมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก “เบอร์นาร์ด อาโนลด์” LVMH กว่าจะมีวันนี้

07 เม.ย. 2566 | 12:06 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2566 | 10:11 น.
5.4 k

“เบอร์นาร์ด อาโนลด์” วัย 74 ปีเจ้าของอาณาจักร LVMH ขึ้นแท่นเป็น "มหาเศรษฐี เบอร์ 1 ของโลก" ปี 2023 ด้วยกลยุทธ์เลือกลงทุนกับแบรนด์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ จนมีแบรนด์แฟชั่นในมือกว่า 70 แบรนด์ เขารับการยกย่องว่า Taste-Maker ที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก

นิตยสาร Forbes และ Bloomberg ได้ประกาศให้ “เบอร์นาร์ด อาโนลด์” วัย 74 ปี เจ้าของอาณาจักร LVMH กลายเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดของโลกคนใหม่ ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แทนที่ “อีลอน มัสก์” เจ้าของ Tesla และ SpaceX 

อาโนลด์ เจ้าของอาณาจักร ‘แอลวีเอ็มเอช โมเอต์ เฮนเนสซี่ หลุยส์ วิตตอง’ (LVMH) ซึ่งมีแบรนด์ดังในเครือมากมายกว่า 75 แบรนด์ เช่น ‘หลุยส์ วิตตอง’ (Louis Vuitton) ‘ทิฟฟานีแอนด์โค’ (Tiffany & Co.) ‘คริสเตียน ดิออร์’ (Dior) , เซโฟรา (Sephora) , จิวองชี่ (Givenchy), มาร์ก เจค็อบ (Marc Jacobs) และอีกมากมาย

ธุรกิจของ LVMH "เติบโตทั้งรายได้ กำไร และราคาหุ้น" ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เขามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เขามีทรัพย์สินรวม 2.11 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าแชมป์เก่าเมื่อปีก่อนคือ “อีลอน มัสก์” ที่มีทรัพย์สิน 1.80 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของอาโนลด์ มาจากการถือหุ้นใหญ่ใน Christian Dior SE ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้น LVMH อยู่ที่  41.4%  โดยหุ้นของเขาใน Christian Dior SE และอีก 6.2% ใน LVMH เป็นการถือผ่านบริษัทของครอบครัว

"พลิกผัน" จากธุรกิจก่อสร้างสู่แบรนด์แฟชั่นหรู 

อาโนลด์ เรียนจบด้านวิศวกร และถูกวางตัวให้มารับช่วงต่อบริษัทก่อสร้างของบิดา ชื่อว่า Ferret-Savinel  ซึ่งดำเนินกิจการมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ เขาบริหารในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 และเริ่มฉายแววความเก่งทางธุรกิจตั้งแต่นั้น หลังจากนั้นในปี 1979 เขาเปลี่ยนจากการทำธุรกิจก่อสร้าง มาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ Férinel Inc.

เขาพาครอบครัวไปทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกาในปี 1981 ก่อนที่จะกลับมาบ้านเกิดอีกครั้งในปี 1984  เพื่อซื้อกิจการ Boussac บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งทอของฝรั่งเศสที่ผลิตสินค้าหรูระดับ Luxury อย่าง Christian Dior ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักถึงขั้นล้มละลาย เขาใช้เงิน 15 ล้านดอลลาร์ในเวลานั้นซื้อหุ้น ก่อนจะบริหารจนบริษัทพลิกฟื้นกลับมาได้ในที่สุด 

จากจุดเริ่มต้นนั้นอาร์โนลต์ค่อยๆ ขยายอาณาจักร ในปี 1987 เขาได้รับเชิญให้เข้าลงทุนในหุ้น LVMH และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประธานคณะกรรมการ และซีอีโอของบริษัทหลุยส์วิตตองในอีก 2 ปีต่อมา

กลยุทธ์การตลาดของ LVMH "กว้านซื้อแบรนด์"

กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของ LVMH คือ กลุ่มประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะจีน เขามองว่ามีศักยภาพ ด้วยจำนวนประชากรและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น  รายได้กว่า 35% ของ LVMH มาจากประเทศในแถบเอเชีย 

กลยุทธ์การบุกตลาดเอชีย คือ การใช้ศิลปินเกาหลี หรือศิลปินจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาเป็น แบรนด์แอมบาสเดอร์ ไม่ว่าเป็น Lisa BLACKPINK แบรนด์ Celine และ Bvlgari, วง BTS แบรนด์ Louis Vuitton   

อีกกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้เขาขยายอาณาจักรแบรนด์แฟชั่นสุดหรูได้กว่า 70 แบรนด์ คือ "การซื้อกิจการแบรนด์อื่นๆ" เพื่อเพิ่มไลน์สินค้า กระจายความเสี่ยง ที่สำคัญยังช่วยลดจำนวนคู่แข่ง โดยมองหาธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง และเริ่มลงทุนในหุ้นของธุรกิจนั้นในบางส่วน หากการบริหารเป็นไปอย่างดีจึงจะทำการซื้อกิจการเลย

แรงบันดาลใจของเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์

อาร์โนลต์ เป็นคนหนึ่งที่ใส่ใจการทำงานมาก แต่ละวันเขามักจะเดินทางไปตรวจสอบตามร้านค้าทั้งที่อยู่ในเครือของ LVMH และศึกษาคู่แข่งด้วยตัวเอง เพื่อจะได้รู้เท่าทันอยู่เสมอว่าสถานการณ์ในตลาดเวลานี้เป็นอย่างไร

ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเขาคือ "วอร์เรน บัฟเฟตต์" มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เขาชื่นชมยุทธ์ด้านการลงทุนในแบบ ‘Buy-and-hold’ ที่เน้นการลงทุนในระยะยาว ที่ต้องอาศัยความใส่ใจ นอกจากนี้เขายังชื่นชม "สตีฟ จ็อบส์" อดีตซีอีโอ Apple ที่เปลี่ยนแปลงโลกด้วยวิสัยทัศน์และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาร์โนลต์นำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ในการบริหารงานกับ LVMH จนประสบความสำเร็จ

อาโนลด์กำลังวางแผนส่งต่อธุรกิจให้ลูกทั้ง 5 ของเขาในเดือนกรกฎาคมนี้ เขาเสนอให้ปรับโครงสร้างองค์กรบริษัท Agache ที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ LVMH เพื่อให้ได้ลูกๆได้รับหุ้นในสัดส่วนเท่าๆ กัน