การเมืองทำเสพติดประชานิยม 10 ปี อุ้มเกษตร 1.2 ล้านล้าน

06 เม.ย. 2566 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2566 | 11:04 น.

10 ปีรัฐอุ้มภาคเกษตร 1.2 ล้านล้านบาท นักวิชาการอัดพรรคการเมืองทำเสพติดประชานิยม ฉุดติดหล่มไม่พัฒนา “พักหนี้” ทำลายตลาดสินเชื่อ เชียร์ BCG ทำนาขายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้ใหม่ ชาวนาขอช่วยแหล่งน้ำ-เมล็ดพันธุ์-ลดต้นทุนปุ๋ย ธ.ก.ส.เผย 2 รัฐบาลยังค้างหนี้กว่า 5.8 แสนล้าน

การเมืองไทยคึกคัก พรรคใหญ่ กลาง เล็ก ส่งคนแห่สมัคร ส.ส.รับศึกเลือกตั้ง สร้างบรรยากาศสีสันไปทั่วประเทศ พร้อมแข่งเปิดเวทีโชว์นโยบายมัดใจประชาชน โดยที่เรียกคะแนนเสียงได้ทุกยุคทุกสมัยคือนโยบายประชานิยม เฉพาะอย่างยิ่งจากฐานเสียงเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีอยู่กว่า 8.03 ล้านครัวเรือน ที่พรรคการเมืองแข่งผุดไอเดียใหม่ และรีไซเคิลนโยบายเก่ามานำเสนอเพื่อดึงคะแนนเสียงกันอย่างเต็มที่

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากพิจารณาจากที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคร่วมทำนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตรที่ผ่านมาไม่ตํ่ากว่าปี 150,000 ล้านบาท (ไม่รวมงบประมาณรายจ่ายประจำที่เกี่ยวข้อง)และหากรวมกับนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกราคาสูงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สูญเสียเงินไปไม่ตํ่ากว่า 5 แสนล้านบาท รวม 10 ปีที่ผ่านมาไทยใช้เงินอุดหนุนภาคเกษตรไปแล้วไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ

“ถามว่าภาคเกษตรดีขึ้นหรือไม่ เงินจำนวนนี้หากนำมาใช้ในเชิง non-price policy (นโยบายไม่อิงราคา) เช่น สร้างแหล่งนํ้า การวิจัย ป่านนี้น่าจะทำให้เกษตรกรหลุดกับดักของความยากจน ลดภาระหนี้สินลงได้มาก ดังนั้นความเสียหายจึงมาจากนโยบายประชานิยม และความอ่อนแอทางความคิดของนักการเมืองที่เห็นประโยชน์ตนและพรรคพวกมากกว่าความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร”

  • ไม่ตอบโจทย์แข่งขันอนาคต

ขณะที่จากการวิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอยู่ในปัจจุบัน เป็นนโยบายที่เข้าไม่ถึงบริบทของข้อปัญหาทางการเกษตรของประเทศ เน้นไปที่คะแนนเสียงเอกตั้งเฉพาะหน้า แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรให้เกิดความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในอนาคต นโยบายที่นำเสนอของทุกพรรคจึงออกมาในลักษณะของการให้การอุดหนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้สร้างกลไกให้เกิดการปรับตัวแก่เกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับผลิตภาพในระบบไร่นา

ทั้งนี้ปัญหาและความท้าทายของภาคเกษตรไทยที่ผ่านมา ยังมีจุดอ่อนในหลายเรื่องที่ภาคการเมืองต้องเข้ามาช่วยแก้ไข เช่น ผลผลิตตํ่า จากทำการเกษตรบนฐานเศรษฐกิจดั้งเดิม ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตํ่า ต้นทุนต่อหน่วยสูง และพึ่งพิงกับนโยบายการอุดหนุนทางด้านราคาของภาครัฐเป็นสำคัญ ขาดความเข้มแข็งและมั่นคงในการทำอาชีพ, ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนทางด้านราคา มีภาระหนี้สินสูง,ขาดแคลนแหล่งนํ้าเพื่อการเพาะปลูก ทำให้มีรายได้ในรอบปีจำกัด

ในระดับมหภาค ภาคเกษตรไทยใช้ทรัพยากรมากแต่ให้ผลิตภาพการผลิตและผลตอบแทนตํ่า(มีพื้นที่การเกษตร 146 ล้านไร่ สัดส่วนของแรงงานร้อยละ 25 หรือประมาณ 13 ล้านคนของแรงงานทั้งประเทศ 38 ล้านคน แต่มีส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP เพียง 8%)

การเมืองทำเสพติดประชานิยม 10 ปี อุ้มเกษตร 1.2 ล้านล้าน

นอกจากนี้ไทยอยู่บนพื้นฐานของการส่งออกสินค้าเกษตรปฐมภูมิเป็นสำคัญ จากมูลค่าสินค้าส่งออกในปี 2565 ที่มีมูลค่ารวม 9.94 ล้านล้านบาท เป็นการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป 1.71 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนเพียง 17.2% ของการส่งออกในภาพรวม เวลานี้สินค้าข้าว และยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกหลักมีความสามารถในการแข่งขันถดถอยลงเรื่อย ๆ

  • แช่แข็งเกษตรกรรอเงินอุดหนุน

 “ตัวอย่างการชูนโยบายประกันรายได้ 5 พืชเกษตรต่อ (ข้าว ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง)แม้จะเป็นนโยบายที่มีการแทรกแซงกลไกตลาดในระดับตํ่า แต่หากมีการดำเนินการต่อเนื่องย่อมส่งผลเสียต่อพืชชนิดนั้น ๆ เพราะเกษตรกรจะไม่คำนึงถึงการปรับตัวและปรับเพิ่มผลิตภาพ ทำให้นโยบายช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวในการปรับปรุงคุณภาพข้าวที่รัฐสูญเสียงบจำนวนมากสูญเปล่า ถือเป็นนโยบายที่แช่แข็งเกษตรกรที่จมปลักอยู่กับการผลิตพืชนั้น ๆ เพื่อหวังผลจากเงินอุดหนุน”

ส่วนนโยบายพักหนี้เกษตรกร เป็นนโยบายที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อตลาดสินเชื่อ โดยเฉพาะกับ ธ.ก.ส.เป็นนโยบายที่พรรคการเมืองได้ (ในระยะสั้น) แต่สร้างความสูญเสียกับสังคมและประเทศ เพราะจะจบลงด้วยคนที่พอจะจ่ายหนี้ได้ก็ไม่ยอมจ่าย ท้ายที่สุดตลาดสินเชื่อในระบบก็จะถูกทำลาย แต่หากจะต้องทำนโยบายนี้ควรมุ่งหากลุ่มเปราะบางและสร้างกลไกจำเพาะ เช่นจะลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่เข้าอบรมทำเกษตรอินทรีย์ หรือทำเกษตรผสมผสาน หรือมาเรียนรู้การทำอาชีพใหม่ หรือการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าเพื่อแปลงเป็นทุน เป็นต้น

  • เชียร์ BCG-ทำนาขายคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ดี เวลานี้ยังมีนโยบายที่ดีที่รัฐบาลใหม่ต้องผลักดันต่อให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มรายได้ และช่วยยกระดับเกษตรกร ได้แก่ นโยบายเชิงยุทธศาสตร์ BCG (Bio,Circular,Green) เพื่อปรับเปลี่ยนฐานศรษฐกิจเดิมไปสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่, นโยบายการสร้างความสมดุลย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนและถูกกีดกันการค้า,นโยบายสนับสนุนการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากกิจกรรมการผลิตในไร่นาหลายทาง

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สอดคล้องกับ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแทรกแซงตลาดและการอุดหนุน เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกร ทำให้ศักยภาพเกษตรกรลดลง ต้องใช้เงินมหาศาล และเกษตรกรจะติดกับดักการช่วยจนไม่พัฒนาตัวเองในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ไม่หาทางลดต้นทุน และไม่สนใจเทรนด์ตลาดโลกว่ามีความต้องการสินค้าแบบใดสุดท้ายจะแข่งขันในต่างประเทศไม่ได้

 ส่วนนโยบายที่มองว่าเหมาะสม เช่น พักหนี้เกษตรกรเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ แต่ต้องเป็นการพักชำระหนี้ระยะสั้น 1-3 ปีเท่านั้น และระหว่างการพักหนี้ต้องสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และเห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากการทำการเกษตร รวมถึงการสร้างชลประทานเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งนํ้า

ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

  • ชาวนาขอช่วย 3 เรื่องใหญ่

ขณะที่ นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนายังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ แต่ขอให้เน้นในรูปแบบที่ทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้ และพออยู่พอกินอย่างยั่งยืนใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.มีแหล่งนํ้าเพียงพอในการเพาะปลูก 2.มีเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้ผลผลิตสูง และข้าวเป็นที่ต้องการของตลาดให้กับเกษตรกร และ 3.ช่วยลดต้นทุนด้านปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จากเวลานี้เกษตรกรมีต้นทุนด้านปุ๋ย ยาเพิ่มขึ้น และล่าสุดมีภาระด้านดอกเบี้ยหนี้เงินกู้เพิ่มหลัง ธ.ก.ส.ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทอีก 0.125-0.25% ต่อปี

  • รัฐยังติดหนี้ ธ.ก.ส. 5.8 แสนล้าน

 รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ระบุว่า ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรใน 2 รัฐบาล โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 มียอดเงินให้สินเชื่อแก้ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 56,224.56 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสินเชื่อของธ.ก.ส. แต่รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ และมีลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐทั้งหมด 569,436.97 ล้านบาท เช่น โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 วงเงิน 5,606.88 ล้านบาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลังปีการผลิต 2554/55 วงเงิน 4,671.86 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 วงเงิน 10,397.38 ล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 วงเงิน 39,999.14 ล้านบาท

 ขณะเดียวกันยังมีลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมปกติอีก 14,121.2 ล้านบาท โดยเป็นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ดำเนินการระหว่าง มี.ค.52-มี.ค.55 วงเงิน 14,112.88 ล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2552/52 ดำเนินการระหว่าง พ.ย.51-พ.ย. 52 วงเงิน 8.32 ล้านบาท

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3876 วันที่ 6 – 8 เมษายน พ.ศ. 2566