"CEA" ผนึกเครือข่ายเปิด 3 พื้นที่สร้างสรรค์ กทม. ดันเศรษฐกิจ 200 ล.

21 มี.ค. 2566 | 17:54 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2566 | 17:54 น.

"CEA" ผนึกเครือข่ายเปิด 3 พื้นที่สร้างสรรค์ กทม. ดันเศรษฐกิจ 200 ล้านบาท พลิกโฉมใหม่หัวลำโพง-วังเก่าสมมตอมรพันธ์-สวนเบญจกิติ หวังกระตุ้นคนรุ่นใหม่เข้าถึงศิลปะร่วมสมัย

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA  เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และ การรถไฟ แห่งประเทศไทย (รฟท.)

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโปรแกรมต่อเนื่องภายใต้โครงการ “UNFOLDING BANGKOK”  สัมผัสประสบการณ์และมุมมองใหม่ของกรุงเทพมหานคร ใน 2 โปรแกรมสุดท้าย ภายใต้ธีม ‘Living Old Building’ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ,วังกรม พระสมมตอมรพันธ์ และ ‘Greeting Benjakitti’ ที่สวนป่าเบญจกิติ 

โดยคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท และต่อยอดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศสร้างสรรค์ ผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วประเทศต่อไป

สำหรับโครงการ UNFOLDING BANGKOK เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มพื้นที่สร้างสรรค์ สู่การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ โดย CEA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิมมาสู่การออกแบบที่ คงอัตลักษณ์ผสมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยสร้างสรรค์พื้นที่และย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เน้นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้างซอฟพาวเวอร์การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง

"เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จะมีการเปิดไฟแสดงแสงสีเสียงที่ถือเป็นไฮไลน์  ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19" 

CEA ผนึกเครือข่ายเปิด 3 พื้นที่สร้างสรรค์ กทม. ดันเศรษฐกิจ 200 ล้านบาท ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องจัดหัวลำโพง  นั่นก็เพราะมีอายุยาวนานกว่า 107 ปี ที่มีสถาปัตยกรรมที่ยังคงอยู่ ทำให้สามารถผสมผสานแสดงสีเสียงเพื่อชวนให้สถานที่สำคัญแห่งนี้มีมุมมองในมิติใหม่ๆ

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ CEA  กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งดังกล่าวนี้จะสามารถเรียกให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางเข้ามาชมบรรยากาศของสถาปัตยกรรมผ่านแสงสีเสียงที่บอกเล่าเรื่องเล่าได้อย่างทันสมัย เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม 

สำหรับกิจกรรม Unfolding Bangkok คือกิจกรรม Living Old Building ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ในกรุงเทพฯ โดยการนำพื้นที่อาคารที่มี คุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการใช้อาคารเก่ามาปรับปรุงและนำมาอนุรักษ์ ด้วยการสร้างความโดดเด่นเน้นเอกลักษณ์ในการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมได้แก่ 

สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยได้รับความร่วมมือจาก รฟท. ผ่านการออกแบบแสงสี นิทรรศการรถไฟจำลอง ตลาด กิจกรรมแสดงดนตรี กิจกรรมวาดรูป และ ลีลาศ เป็นต้น โดยการออกแบบแสงสี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “THE WALL 2023 : UNFOLDING HUA LAM PHONG” ผลงานของกลุ่มนักออกแบบแสง Lighting Designers Thailand และ DecideKit แบ่งออกเป็น 3 โซนดังนี้

  • The Door เป็นโซนแรก ที่จัดแสดงบนกระจกโค้งด้านบนบริเวณประตูทางเข้า สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญและเป็นฉากแรกของการเดินทางเข้าสู่ภายใน
  • The People การจัดแสดงที่อยู่ภายในโถงของสถานี จุดศูนย์รวมของผู้คนในการเดินทาง เปลี่ยนสถานที่พักคอยของผู้คนที่เรียบง่าย สู่การแสดงแสงไฟ การแสดงดนตรี และ จุดซื้อขายอาหาร ทั้งข้าวผัดรถไฟ ข้าวเหนียวหมูเค็ม ซึ่งเป็นอาหารประจำของ ผู้ใช้บริการโดยสารรถไฟเป็นที่รู้จักกันทั่วไป การแสดงนิทรรศการรถไฟจำลอง ซึ่ง การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ย่านสถานีรถไฟหัวลำโพง กลับมาครึกครื้น มีชีวิตชีวา อีกครั้ง จากบริบทใหม่ของสถานีรถไฟ ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่สำคัญ ของกรุงเทพอีกแห่งหนึ่ง

 

  • The Emotion การจัดแสดงการออกแบบแสงไฟภายในชานชาลา เรียกคืนความรู้สึกใน การพบและจาก หรือการออกเดินทางครั้งใหม่ ต่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ที่หลากหลาย และการแสดงหัวรถจักรไอน้ำที่ถูกใช้งานในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว แต่ยังคงความสมบูรณ์ไว้ได้ ผ่านการจัดแสงสี นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัส การทำงานของหัวรถจักรไอน้ำได้อย่างใกล้ชิด

CEA ผนึกเครือข่ายเปิด 3 พื้นที่สร้างสรรค์ กทม. ดันเศรษฐกิจ 200 ล้านบาท อาคารวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ เป็นอาคารเก่าทางประวัติศาสตร์ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายในชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ ซึ่งยังคงความสมบูรณ์ แบบของสถาปัตยกรรมและความงดงาม ในยุคสมัยที่นิยมสร้างอาคารโดยนำวัฒนธรรม ตะวันตกมาใช้ในการออกแบบ โดย CEA ได้ร่วมมือกับ Urban Ally และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำพื้นที่แห่งนี้มาเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงาม พร้อมบอกเล่าเรื่องราว ทางประวัติศาสตร์และชุมชนโดยรอบที่เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังฆภัณฑ์ใหญ่ของกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกันยังมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องGreeting Benjakitti งานศิลป์กลางสวนป่า ทั้งการจัดแสดงผลงานจัดวาง (Art Installation) จำนวน 5 ชิ้นงาน ศิลปะการแสดง (Performing Art) และกิจกรรมเวิร์กช็อป โดยมีผลงานจัดแสดงดังนี้ 

  • The Center of the Universe โดย อรรถพร คบคงสันติ ที่ได้แรงบันดาลใจจากกล้องคาไล โดสโคปด้วยดีไซน์ใหม่ เป็นการสร้างแสงสีและมิติที่หลากหลาย ช่วยส่งเสริมในการมองสวน เบญจกิติในมุมมองที่แปลกใหม่ ตามช่วงเวลาและทิศทางในการมองของแต่ละคน
  • Stingless Bee City โดย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ออกแบบเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง ของผึ้งชันโรง สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งธรรมชาติ 
  • Hornbill Villa โดย นีโน่ สุวรรณี สาระบุตร ผลงานจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาจำนวน 200 ชิ้น เพื่อเป็นรังเทียมให้แก่นกเงือก ศิลปินได้ร่วมกับชุมชนช่างปั้นครกดินเผา จังหวัดนครพนม ในการรังสรรค์ชิ้นงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ       
  • The Circle Biogenesis 2023 โดย สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ การจัดแสดงผลงานโดยการนำ ต้นข้าวมาเรียงเป็นวงกลม แสดงสัญลักษณ์ของเวลาที่สัมพันธ์กับการโคจรของดวง อาทิตย์ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอาหารหล่อเลี้ยงผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง
  • House of Silence โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปะการออกแบบพื้นที่ที่เหมือนกับบ้าน โดยเปิดให้ผู้เข้าชมได้มีเวลาอยู่กับตัวเองและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัว ระหว่างการมีอยู่ของสรรพสิ่งกับความว่างเปล่าภายนอกและความรู้สึกภายในจิตใจ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดศิลปะการแสดง (Performance Art) และเวิร์กช็อป โดย CEA ได้ร่วมกับสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้แนวคิด “COHABITAT” สะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล สร้างสรรค์ และเป็นมิตร ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ ให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมกับการสำรวจพื้นที่สวนป่า สิ่งแวดล้อม เพลิดเพลินกับโปรแกรมดนตรี เต้นรำ โรงละคร บทกวี การแสดงตลก และเวิร์กช็อปศิลปะ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่า กทม. กล่าวว่า กทม.มีพื้นที่และอาคารที่มีความสำคัญ และมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจหลายแห่ง จึงมองว่าการที่ได้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง CEA มาจัดกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นต้นแบบที่จะสะท้อนสถาปัตยกรรมในมุมมองที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงศิลปะร่วมสมัยได้มากขึ้น  ซึ่งในอนาคต กทม. ก็อาจจะต้องขอความร่วมมือจากหลายภาคส่มนเพื่อมาช่วยเสริมในจุดนี้