ดัน “พื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” สู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโลก

21 มี.ค. 2566 | 07:55 น.

ดัน “พื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” สู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโลก วางเป้าเป้า 5 ปี ยกระดับ 142 ท้องถิ่นพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนเสิร์ฟนักท่องเที่ยวคุณภาพ ตอบยุทธศาสตร์ชาติ

นายพิพัฒน์  รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.พัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่ากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน 

โดยมีเป้าหมายว่าทั้ง 142 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน 15 อำเภอของ 3 จังหวัด ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ คือ จังหวัดสงขลา รวม 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง บางกล่ำ 

จังหวัดพัทลุง รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสน ควนขนุน 

และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด หัวไทร และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รวม 142 แห่ง จะได้รับการพัฒนาและจะมีกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน อย่างน้อยท้องถิ่นละ 1 กิจกรรม หรือ 1 เส้นทาง ภายในระยะ 5 ปี ของแผนยุทธศาสตร์ฯ รวมถึงการผลักดันพื้นที่เมืองเก่าสงขลา เพื่อเสนอต่อยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก  

สำหรับความโดดเด่นของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คือ เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคุณค่าของทรัพยากรท่องเที่ยวทั้งด้านธรรมชาติ มีความเข้มแข็งทั้งด้านประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ (ซิงกอรา : Singora) เป็นพื้นที่พหุสังคมวัฒนธรรม 3 ศาสนา พุทธ มุสลิม และจีน จึงมีเรื่องราวที่สามารถพัฒนาและนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวได้ 

ดันพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโลก

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ผ่านมาคือขาดการบูรณาการและการจัดการที่ดี ซึ่งการได้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ ทำให้เกิดการบูรณาการในการขับเคลื่อนร่วมกันทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ อพท. มีเป้าหมายผลักดันพื้นที่เมืองเก่าสงขลาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานในระดับสากล 

และการขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ร่วมกันตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมมหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อต้องการสร้างการรับรู้ให้เกิดวงกว้างในการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 

รวมถึงการรับรู้ว่า รัฐบาลได้ประกาศให้พื้นที่ใน 3 จังหวัดโดยรอบทะเลสาบสงขลาให้เป็นพื้นที่พิเศษฯ แล้วรวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงประโยชน์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ  ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วน นำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้และสร้างความสุขให้กับชุมชุนและท้องถิ่น

สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ระยะ 5 ปี ที่ อพท. ได้จัดทำขึ้นและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. แล้วนั้น ได้บรรจุโครงการเพื่อขับเคลื่อนไว้รวม 270 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 5 พันล้านบาท ที่กระจายจ่ายไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินงาน ครอบคลุม 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 

ดันพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโลก

  • พัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อมุ่งสู่ชุมชนแห่งความสุข 
  • สร้างเสริมและกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน 
  • สร้างต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น 
  • ประสานความร่วมมือทุกภาคีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลไกและระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการ 
  • พื้นที่ได้รับการพัฒนาตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะร่วมขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน มีทิศทางและเป้าหมายเดียวกันไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

นอกจากนี้ อพท. ยังเตรียมเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการให้กับท้องถิ่นด้วย โดยจะนำมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) ที่ อพท. พัฒนาขึ้นไปถ่ายทอดให้กับองค์กรจัดการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

และพิจารณาคัดเลือกองค์กรที่สนใจเข้ารับการส่งเสริมการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ และพร้อมลงมือปฏิบัติ พร้อมทวนสอบผลการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ