19 มี.ค. อย่าลืม เลือกตั้ง “สภาเกษตรกรจังหวัด”

15 มี.ค. 2566 | 17:46 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2566 | 17:46 น.
1.0 k

เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เตือนเกษตรกร อย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ หวังได้คนดี ช่วยเกษตรกรไทยอยู่ดีกินดี เข้าคูหา วันที่ 19 มี.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้ง /ที่ว่าการอำเภอ ที่เกษตรกรมีรายชื่อใกล้บ้าน

ตามที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.) ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 โดยที่ผ่านมาสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ร่วมกับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/รณรงค์การเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร โดยเชิญชวนผู้มีสิทธิ์มาสมัครรับการเลือกตั้งฯ ออกมาสมัคร รวมทั้งเชิญชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ

รัตนะ สวามีชัย

นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับถอยหลังเหลืออีก 3 วันจะถึงวันสำคัญของเกษตรกรไทย ขอให้เกษตรกรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ ประเภทผู้แทนเกษตรกร ในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้ง /ที่ว่าการอำเภอ ที่เกษตรกรมีรายชื่อใกล้บ้าน เพื่อเลือกเกษตรกรที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเกษตรกร เพื่อคุ้มครอง และรักษาประโยชน์ของเกษตรกร

19 มี.ค. อย่าลืม เลือกตั้ง “สภาเกษตรกรจังหวัด”

ตลอดจนร่วมสนับสนุนสิทธิ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการกำหนดนโยบาย และวางแผนการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อให้รัฐรักษาเสถียรภาพด้านราคา และความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งในอาชีพ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปเพื่อเกษตรกรอย่างแท้จริงมาร่วมกันออกมาใช้สิทธิ เพื่อให้ชาวเกษตรกรไทยอยู่ดีกินดี "สภาเกษตรกร คือองค์กรของเกษตรกร เพื่อเกษตรกร”

 

อนึ่ง ความเป็นมาของสภาเกษตรกรแห่งชาติ

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 84(8) ประกอบมาตรา 303(1) ได้บัญญัติให้รัฐจัดทำกฎหมายว่าด้วยสภาเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการยกร่างกฎหมาย ว่าด้วยสภาเกษตรกร โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์) เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการกองนิติการ (ขณะนั้น) เป็นกรรมการ และเลขานุการ เพื่อดำเนินการศึกษา และยกร่างกฎหมายว่าด้วยสภาเกษตรกร คณะกรรมการฯ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรแห่งชาติ พ.ศ....

โครงสร้างสภาเกษตรกรแห่งชาติ

พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมาย ที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิต และการตลาดเพื่อให้ผลิตผลทางการเกษตร ได้รับผลตอบแทนสูงสุด และมีสภาสำหรับเกษตรกร ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเสริมสร้างสมานฉันท์ของเกษตรกรทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกร มีความเข็มแข็ง และมีการรวมตัวกัน อย่างเป็นเอกภาพโดยสร้างเครือข่ายเกษตรกร

นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถจัดทำแผนแม่บท เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา กำหนดนโยบาย ให้สอดคล้องกับความต้องการ และสภาพปัญหาอันแท้จริง รวมทั้งให้เกษตรกรได้รับ การพัฒนา ส่งเสริมให้ได้รับความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรรมด้านต่าง ๆ ในการนี้ ได้มีการนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกไปรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่แต่ละภาค รวม 4 ภาค แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น มาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และได้เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการ ตามกระบวนการตรากฎหมาย

 

19 มี.ค. อย่าลืม เลือกตั้ง “สภาเกษตรกรจังหวัด”

ความเป็นมาของร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ....

ร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ... มีผู้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารวม 9 ฉบับ คือ

1.คณะรัฐมนตรี ชุดที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เสนอต่อ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 และได้บรรจุระเบียบวาระการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 19 (สมัยวิสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 28 มีนาคม 2552

2.นายเจริญ จรรย์โกมล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชาชน กับคณะ (ปัจจุบันคือพรรคเพื่อไทย) ซึ่งได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 และได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 22 (สมัยวิสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 8 เมษายน 2552

3.นายศุภชัย โพธ์สุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย กับคณะ ซึ่งได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษกร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 และได้บรรจุ ระเบียบวาระการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 22 (สมัยวิสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 8 เมษายน 2552

4.นายขยัน วิพรหมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ ซึ่งได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 และได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 22 (สมัยวิสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 8 เมษายน 2552

5.นายอนันต์ ศรีพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กับคณะ ซึ่งได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 และได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 26 (สมัยวิสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2552

6.นายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กับคณะ ซึ่งได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 และได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 28 (สมัยวิสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2552

7.นายภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทยพัฒนา กับคณะ ซึ่งได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2552 และได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ 9 กันยายน 2552