“สามารถ” แนะทางออก “อธิรัฐ” อย่าร่วมวง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

09 มี.ค. 2566 | 18:07 น.

“สามารถ” ชี้ทางออก “อธิรัฐ” แนะรอศาลพิพากษา เหตุคดียังไม่ถึงที่สุด หลังคมนาคมเตรียมชงครม.เคาะลงนามสัญญาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หวั่นกระทบโครงการล่าช้า

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกหัวหน้าหน่วยในสังกัดกระทรวงฯ มาชี้แจงความคืบหน้าโครงการที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน เพื่อเร่งรัดให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันในวาระรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แม้นายอธิรัฐจะอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ก็มีอำนาจในการเสนอให้ ครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการได้ 

 

สำหรับเหตุผลที่นายอธิรัฐไม่ควรชงผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้า ครม. ดังนี้

1. คดีที่ศาลปกครองยังไม่ถึงที่สุด 2 คดี ประกอบด้วย คดียกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด แต่ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาแล้วว่าการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีกีดกันและเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่งในการประมูลครั้งที่ 2 หรือไม่ ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น

2. คดีกีดกันและเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่งในการประมูลครั้งที่ 2 หรือไม่นี้ เป็นคดีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่สามารถชี้แจงให้สิ้นข้อสงสัยได้ เช่น

การเปิดให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้าร่วมประมูลได้ ทำให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ หรือ Incheon Transit Corporation (ITC) เข้าร่วมประมูลกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งในการประมูลครั้งที่ 1 ITD ร่วมกับ ITC ไม่สามารถเข้าประมูลได้
 

ขณะที่การเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้รับเหมาในการประมูลครั้งที่ 2 นี้ ทำให้ในโลกใบนี้มีผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนแค่เพียง 2 รายเท่านั้น ประกอบด้วย ช.การช่าง และ ITD ส่งผลให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 ไม่สามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้

 

ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า  กรรมการคนหนึ่งของ ITD ได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อาจทำให้ ITD มีคุณสมบัติต้องห้ามที่จะยื่นประมูล ซึ่งถ้า ITD มีคุณสมบัติต้องห้ามแล้ว รฟม. จะต้องไม่เปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิค และซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ ITD ร่วมกับ ITC แต่ทำไม รฟม. จึงเปิดซองข้อเสนอทั้ง 2 ซองดังกล่าว 

 

ส่วนการยอมให้ผู้รับเหมาสามารถเป็นผู้นำกลุ่มนิติบุคคลยื่นประมูลได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หากผู้รับเหมาไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเหมือนกับการประมูลครั้งที่ 1 ถามว่า ITC  จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือ  เนื่องจากเขาจะต้องถือหุ้นในกลุ่มนิติบุคคลมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%

 

“ในทางที่ถูกต้อง ผู้นำกลุ่มควรเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เนื่องจากเขาจะต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้ารวมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสายเป็นเวลาถึง 30 ปี ไม่ใช่ผู้รับเหมาที่ทำการก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกเพียง 6 ปี”

 

ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ มีเวลาในการศึกษาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งมีรายละเอียดมากมาย และสลับซับซ้อนในช่วงเวลาจำกัด อาจไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ การจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ ครม. แล้วถ้าต่อมาศาลฯ มีคำพิพากษาว่าการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ การประมูลครั้งที่ 2 มีการกีดกันและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง นายอธิรัฐจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทำได้ยากขึ้น

 

“ควรรอให้ศาลปกครองได้พิจารณาในข้อกฎหมายให้เสร็จสิ้น และควรรับฟังการท้วงติงจากภาคประชาชนให้รอบด้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกระบวนการและขั้นตอนการประมูลให้ถูกต้อง ไม่ควรละเลยหรือมองข้ามการดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งการที่ตนออกมาให้คำแนะนำเช่นนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีช่องทางนำไปสู่การทุจริต หรือเกิดการฟ้องร้องตามมาจนโครงการต้องล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากตนเห็นด้วยกับการมีโครงการดังกล่าว เพราะจะเป็นรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยากับฝั่งตะวันตก คาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากด้วย”