"ศาลปกครองสูงสุด" ยกฟ้อง คดีแก้หลักเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม ชอบด้วยกฎหมาย

01 มี.ค. 2566 | 11:21 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 11:24 น.
2.9 k

"ศาลปกครองสูงสุด" ยกฟ้อง ปมคดีรฟม.-บอร์ดมาตรา 36 แก้หลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังเปิดกว้างเอกชนทุกรายยื่นข้อเสนอ ยันดำเนินการเห็นชอบด้วยกฎหมาย เผยบีทีเอสซีไม่ได้รับความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 9.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินเอกสารคัดเลือกเอกชน ในการประกวดราคาครั้งที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ทำให้เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดยศาลพิพากษายกฟ้อง​ การเปลี่ยนหลักเกณฑ์​การประมูลครั้งแรก​ ​ เนื่องจากศาลฯ วิเคราะห์ว่าผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.มีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น มีโครงสร้างงานโยธาที่ละเอียดอ่อนจากการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน ส่งผลให้คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกข้อเสนอด้านเทคนิค จึงมีการแก้ไขหลักเกณฑ์เกิดขึ้น

\"ศาลปกครองสูงสุด\" ยกฟ้อง คดีแก้หลักเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะเดียวกันผลของการแก้ไขหลักเกณฑ์พบว่าในภาพรวมมีผลทำให้คะแนนประเมินเปลี่ยนไปเพียง 3 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิคเท่านั้น

ส่วนกรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์​ประเมินที่ทาง BTSC ยื่นอุทธรณ์ว่าอาจเกิดขึ้นปัจจัยภายนอก​นั้น ศาลฯ วิเคราะห์​แล้วว่า คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.ได้มีข้อกำหนดไว้ว่าเปิดกว้างให้ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย​สามารถยื่นข้อเสนอแนะในการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ยื่นข้อเสนอแนะเท่านั้น

 

ทั้งนี้ยังพบว่ามีเอกชนหลายราย รวมทั้ง BTSC ก็มีการยื่นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ ดังนั้นศาลฯ วิเคราะห์ว่าไม่อาจนำประเด็นนี้มาตัดสินได้ว่า กรณีที่คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม. ไม่ได้นำประเด็นของ BTSC มาหยิบยกพิจารณาก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่ง

ขณะเดียวกันการแก้ไขหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนนั้น คณะกรรมการ ม. 36 และ รฟม.ยังมีข้อกำหนดเปิดกว้างให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติ สามารถรวมกลุ่มตั้งกิจการร่วมค้าและยื่นข้อเสนอได้ ดังนั้นจึงถือเป็นกานกระทำที่ไม่ได้ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์รายใดรายหนึ่ง

 

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนที่เกิดขึ้น ทางคณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.ยังได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอมีระยะเวลาทำข้อเสนอ 45 วัน และเกณฑ์คัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงเพียงส่วนของซองที่ 2 ด้านเทคนิค ศาลฯ จึงวิเคราะห์ว่า BTSC ไม่ได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ เพราะมีเวลาในการแก้ไขข้อเสนอ อีกทั้งหลักเกณฑ์คัดเลือกเปลี่ยนไปเพียงบางส่วน ดังนั้นผู้ยื่นข้อเสนอจึงสามารถแก้ไข้ข้อเสนอเพียงบางส่วนได้

 

สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชนและวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการ การเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าลายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง

 

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศเชิญชวนฯ โดรงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เหตุแห่งความเดือดร้อนหรือความเสียหายจากคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงหมดสิ้นไปแล้ว ศาลฯ จึงมีคำสั่งจำหน่ายดดีในข้อหาฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

ขณะที่ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอตามคำฟ้องเพิ่มเติม ได้แก่ ค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมาย นั้น ศาลฯ เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการค้าตามปกติของผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว

 

 ทั้งนี้เมื่อค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้ฟ้องคดีมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กรณีจึงไม่อาจถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

 

สำหรับคดีที่ศาลปกครองพิจารณาในปัจจุบันเหลือ 2 คดี

คดีการประมูลครั้งที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 คดียกเลิกการประมูล ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขณะนี้รอศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา

 

 คดีการประมูลครั้งที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ 1646/2565 โดย BTSC ฟ้องประเด็นที่มีการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม