รัฐบาลในฝัน "10 ซีอีโอ" หวังแก้สารพัดปัญหา รับมือบริบทใหม่ไทย-โลก

08 มี.ค. 2566 | 12:21 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2566 | 17:12 น.

10 ซีอีโอ ตั้งสเปกสูงว่าที่รัฐบาลใหม่ แก้สารพัดปัญหา รับมือบริบทใหม่โลก จี้ดูแลปากท้อง ลดค่าไฟ ลดเหลื่อมล้ำ กดหนี้ครัวเรือน ลุยต่อ BCG - 4 เมกะโปรเจ็กต์

ปี่กลองการเมืองรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ของประเทศไทยดังกระหึ่มไปทั่วประเทศ ตามไทม์ไลน์ คาดการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ยังผลพรรคการเมืองแข่งหาเสียงกันอย่างคึกคัก ชูนโยบายหลัก “ประชานิยม” เกทับบลั๊ฟแหลกเพื่อดึงฐานคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด เล็งเป้าได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อบริหารประเทศ ในมุมมองผู้บริหารภาคเอกชน มีความคาดหวังอย่างไรนั้น

ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ 10 ซีอีโอภาคเอกชนชั้นนำ พบมีความคาดหวังสูงต่อว่าที่รัฐบาลใหม่ที่จะมานำทัพประเทศไทยเคลื่อนไปข้างหน้า

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ความคาดหวังอันดับแรก อยากได้รัฐบาลที่มีความแข็งแรงและมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจของภาคธุรกิจเอกชนทั้งในและต่างประเทศในการตัดสินใจลงทุนใหม่ หรือขยายธุรกิจเดิม

ขณะที่เวลานี้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง และมีบริบทใหม่ของโลกเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ซึ่งเป็นภัยและความท้าทายที่มวลสนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) หรือการเมืองระหว่างประเทศที่จะส่งผลทำให้ทิศทางการค้าของทั่วโลกเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะมีความพร้อม มีความรู้ความสามารถ และมีทีมงานที่ดีในการวางแผนรับมือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น

“ปัญหาในประเทศที่อยากให้เร่งแก้ไขเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ปัญหาปากท้อง การลดค่าครองชีพ รวมถึง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีความง่าย โดยกฎหมายที่มีความล้าสมัยต้องยกเลิกหรือปรับปรุงให้ทันสมัย การลดความเหลื่อมลํ้า และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งหมดเป็นปัญหาใหญ่ ๆ ที่ไทยกำลังเผชิญ นอกจากนี้ขอให้สานต่อเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)ที่เป็นวาระแห่งชาติ ที่ไทยได้เริ่มต้นไว้ดีแล้วขอให้เดินให้สุด ๆ ให้เกิดรูปธรรมอย่างแท้จริง”

สัมภาษณ์ 10 ซีอีโอภาคเอกชนชั้นนำ

เร่งช่วย SME-ดันเมกะโปรเจ็กต์

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากได้รัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพและความมั่นคง เรื่องแรก ๆ ที่อยากให้ดูแล นอกจากปัญหาปากท้องแล้ว ขอให้เร่งช่วย เอสเอ็มอี ที่เวลานี้กำลังฟื้นตัวหลังโควิด และต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้เร็วที่สุด รวมถึงการอำนวยความสะดวก และให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการ และดูแลงบประมาณสำหรับการผลักดันยุทธศาสตร์เร่งด่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ให้เร่งผลักดันการลงทุนภาครัฐ ในส่วนของ เมกะโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว และนักลงทุนที่จะเข้ามาในไทยมากขึ้น

“รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างที่ทำมาในเรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ๆ ขณะเดียวกันจะต้องรู้ว่างบประมาณส่วนใดที่รัฐบาลจะต้องลงทุน หรือจะไปดึงต่างชาติให้มาลงทุนให้เร็วที่สุด ในส่วนนี้จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นอยู่แล้ว ฟื้นได้เร็วขึ้น ซึ่งหลังการเลือกตั้งขอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง”

หวังการเมืองนิ่ง-ดันกำลังซื้อเพิ่ม

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า หากภาครัฐให้ความมั่นใจเรื่องแนวทางการบริหารประเทศ ประชาชนจะได้ประโยชน์ธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้อานิสงส์จากความเข้มแข็งทางการเมือง และท้ายสุดจะหนุนให้ฐานรากมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะมีทิศทางที่สดใสและพลิกฟื้นได้ดีขึ้น จาก 2 ปัจจัยคือ สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และมีการประกาศวันเลือกตั้งชัดเจนจากรัฐบาล ซึ่งจะมีกระแสเงินสดหมุนเวียนเข้ามาในระบบมากขึ้น

 “เราเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทุกอย่างควรดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว คนมีความหวังมากขึ้นจากรัฐบาลใหม่ เราผ่านโควิดมาแล้ว บริษัทใหญ่แข็งแรงอยู่รอดได้ แต่เอสเอ็มอียังไปไม่ได้ รัฐบาลต้องมีแผนชัดเจนทำให้เขามีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะเอสเอ็มอีเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ หากทำให้การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจไม่สะดุด เอสเอ็มอี ระดับย่อยมีความแข็งแรง จะกระตุ้นให้รากหญ้ามีกำลังซื้อมากขึ้น”

ดันดิจิทัลฮับอาเซียน-กรีนซัพพลายเชน

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีมากในการพลิกฟื้นประเทศ มองว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ปัจจัยผันผวนต่าง ๆ ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้นจะเริ่มลดลง หากรัฐบาลใหม่จับทิศทางได้ถูก จะเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทำให้ไทยกลายเป็นไข่แดงของภูมิภาคที่คนจะนำเงินมาลงทุน

สำหรับ 2 เรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญหลังจากนี้ คือ 1.ต้องผลักดันให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน จากเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และใหญ่กว่าที่คิด เทคโนโลยีต่าง ๆ จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และ 2. ภาวะโลกร้อน ซึ่งจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์การทำธุรกิจทั้งหมด ซัพพลายเชนทั่วโลกจะกลายเป็นกรีนซัพพลายเชน ดังนั้นไทยต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า กรีนซีเมนต์ หรือ กรีนพลาสติก เป็นต้น

ลุ้นแจ้งเกิดโครงการใหม่ ๆ ดัน ศก.

ด้าน นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY กล่าวว่า ข้อดีของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทุกครั้งจะมีโครงการใหม่ ๆ ออกมา เป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ หวังจะได้รัฐบาลโดยเร็ว เพื่อมาส่งเสริมและสนับสนุนภาคการส่งออกและภาคการผลิตให้เติบโต รวมถึงเข้ามาแก้ปัญหาสภาพคล่องของคนชั้นกลางและล่าง

สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ ต้องยอมรับว่ารายได้ของประเทศจะได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัว แต่จะมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมาช่วยลดผลกระทบ สิ่งที่ต้องระวังของภาคธุรกิจ คือ การสร้างหนี้ และสภาพคล่อง จากปีนี้สถาบันการเงินมีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อมีข้อจำกัดมากขึ้น

วางสภาพแวดล้อมไทยโตยั่งยืน

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) สะท้อนว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดควรมีนโยบายที่ต่อเนื่องกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เรื่องแรกควรแก้ไขเศรษฐกิจปากท้อง รวมถึงต้องการรัฐบาลที่ส่งเสริมในการวางสภาพแวดล้อมประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่การเปิดประเทศมีสัญญาณบวกชัดเจน ภาคท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว แต่นักท่องเที่ยวจีนคาดว่ายังเข้ามาไม่มาก อยู่ที่ประมาณ 30% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด ต้องเร่งโปรโมท

เช่นเดียวกับ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ที่ระบุว่า ต้องการรัฐบาลที่มาสานต่อและผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตต่อเนื่อง ขณะนี้ภาคท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว นักธุรกิจต่างชาติ เริ่มเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ความต้องการแรงงานมีฝีมือมีสูงต้องเร่งรองรับ ในไตรมาส 2 ของปีนี้ บริษัทฯมีดีลใหญ่และเตรียมลงนาม MOU สะท้อนความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทย

จี้เร่งแก้หนี้ครัวเรือนสูงตัวถ่วงกำลังซื้อ

นายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ระบุ มีหลายปัญหาที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ไขจากบทเรียนโควิด-19 และความท้าทายใหม่ ๆ โดยจีดีพีไทยปีนี้ มีทิศทางการเติบโตที่ผูกติดกับภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกเสี่ยงหดตัวจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเข้าปีที่ 2 ราคานํ้ามันยังอยู่ระดับสูงกระทบต้นทุน

 “ทั้งหมดคือความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย อยากให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ประเมินและหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นให้กับประเทศ ปัญหาภายในใหญ่สุดที่กระทบกับภาคธุรกิจมากที่สุดในเวลานี้ คือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูง กระทบกำลังซื้อลดลง เอกชนไม่อยากเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายประชานิยม เช่น การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปตลอดอย่างไม่จบไม่สิ้น”

ขอยืดอายุผ่อนบ้านนาน 40 ปี

ส่วน นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด (TerraBKK.com) กล่าวว่า อยากเสนอให้รัฐบาลผลักดันให้สถาบันการเงินปรับเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านการขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้นานขึ้น เป็นสูงสุด 35-40 ปี เพื่อช่วยลดผลกระทบของแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และช่วยกระตุ้นกำลังซื้อบ้านระดับราคาตํ่ากว่า 3 ล้านบาท ในกลุ่มลูกค้าตลาดกลางถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ตลาดอสังหาฯกลับมาดีขึ้นตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

ขณะที่ นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL กล่าวว่า รัฐบาลในฝันสำหรับมุมมองของผมอยากได้รัฐบาลที่พูดแล้ว ต้องรับผิดชอบ และทำได้จริง ไม่ใช่อยากพูดอะไรก็ได้เพื่อให้ได้คะแนนเสียง โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม ที่พูดออกมาแล้ว ไม่รู้จะทำได้ไหม หรือพูดแล้วไม่ทำอะไร และไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองพูดไว้

รัฐบาลในฝัน \"10 ซีอีโอ\" หวังแก้สารพัดปัญหา รับมือบริบทใหม่ไทย-โลก

ส่วนใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ถ้าเรามองจากอดีตที่ผ่านมา เชื่อว่าการเลือกตั้งในทุกครั้งก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อธุรกิจ และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน ซึ่งในแง่ของธุรกิจโรงแรมก็ไม่น่าจะมีผลกระทบ ส่วนในธุรกิจอาหาร ช่วงเลือกตั้งถือว่าดี เพราะคนใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ทั้งผมมั่นใจว่าในแง่ของนโยบายด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ยังมองเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  

สำหรับความคาดหวังรัฐบาลใหม่ในเดือนพ.ค.นี้ ในฐานะคนทำธุรกิจก็อยากเห็นนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องและชัดเจน รวมทั้งอยากจะให้รัฐบาลมาช่วยดูแลเรื่องต้นทุนต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้นมาก   โดยเฉพาะค่าไฟ ซึ่งมีต้นทุนต่อยูนิต สูงถึง 20-30% ทั้งยังมีเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลว่าจะมีมาตรการใดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้หรือไม่ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามาเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19

รวมถึงมองว่ารัฐบาลควรเน้นการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่เมืองรองต่างๆ เพื่อส่งเสริมการกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองรอง และหากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศต่อเนื่อง ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในเฟสต่อไป เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซันในเดือนพ.ค.หรือมิ.ย.นี้ เนื่องจากเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ด้วยไทม์มิ่งการเปิดจองโรงแรมในขณะนี้ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน โดยเฉพาะสงกรานต์ ซึ่งมีการเดินทางท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่แล้ว