หลุมพลาง 3 ประการ ของการสร้างทายาทธุรกิจครอบครัว

07 มี.ค. 2566 | 14:41 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2566 | 14:46 น.

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจครอบครัวย่อมทราบดีถึงแนวโน้มการเป็นเจ้าของโดยครอบครัวที่ลดลงในยุคของคนรุ่นใหม่ แม้พ่อแม่ส่วนใหญ่จะหวังว่าการทำงานหนักและมรดกของตนจะได้รับการส่งต่อไปพร้อมกับการมอบอนาคตทางการเงินที่มั่นคงให้กับครอบครัวและลูกหลานในอนาคต

แต่ด้วยเหตุผลหลายประการทำให้มีธุรกิจครอบครัวเพียงไม่มากนักที่สามารถเติบโตอยู่ได้เกินรุ่นที่ 3 ทั้งนี้สาเหตุที่ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถส่งต่อกิจการให้ทายาทรุ่นต่อไปได้นั้นมีอยู่มากมาย เช่น สมาชิกในครอบครัวไม่สนใจธุรกิจครอบครัว ผู้บริหารไร้ความสามารถ และการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

ซึ่งน่าแปลกที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่ธุรกิจกำลังไปได้ดี ไม่ใช่ช่วงที่ธุรกิจมีปัญหาแต่อย่างใด และบ่อยครั้งที่พ่อแม่สร้างความล้มเหลวให้กับลูกของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ผู้เชี่ยวชาญจึงชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดสำคัญ 3 ประการที่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงและวิธีแก้ไขให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

การบังคับลูก (Dragooned) พ่อแม่บังคับให้ลูกทำงานในธุรกิจครอบครัว ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กที่ต้องการแรงงานฟรี หรือต้องการให้ลูกๆ มีส่วนร่วมโดยมีการจ่ายเงินให้ด้วย และ/หรือเพื่อปลูกฝังจรรยาบรรณในการทำงาน ขณะที่ในธุรกิจขนาดใหญ่ พ่อแม่อาจบังคับเพราะต้องการให้ลูกมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ

ธุรกิจครอบครัว

แต่พ่อแม่ต้องพึงตระหนักว่าไม่มีใครทำอะไรได้ดีหากถูกบังคับ และหากมีพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็อาจไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขา หากต้องอยู่กับผู้นำในอนาคตที่ไม่สนใจในธุรกิจนี้เลย วิธีที่ดีที่สุดคือให้ลูกๆเข้ามาเยี่ยมชมธุรกิจ คลุกคลีอยู่ในนั้น เฝ้าสังเกตและถามว่ามีอะไรที่ลูกสนใจจะเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากทำให้ลูกๆ สนอกสนใจได้แล้วจะเห็นความหลงใหลในธุรกิจของพวกเขาเอง

ความคาดหวังกับลูกคนแรก/ลูกชาย (First born/man expectations) บ่อยครั้งที่พ่อแม่มีความคาดหวังที่ออกจะล้าสมัยว่าลูกคนโตหรือลูกชายที่อายุมากที่สุดควรรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว แม้บางครั้งจะเห็นได้ชัดว่าลูกสาวเป็นผู้บริหารและเป็นผู้นำที่ดีกว่า แถมยังเป็นลูกคนโตแต่พ่อก็ยังต้องการมอบธุรกิจให้กับลูกชายอยู่ดี

ในกรณีเช่นนี้การมีที่ปรึกษาที่ดีอาจช่วยแสดงให้พ่อแม่เห็นว่าลูกสาวเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวและพนักงานเพียงใด ขณะที่ลูกคนโตและโดยเฉพาะลูกชายมักรู้สึกว่านี่เป็นสิทธิ์ที่พระเจ้าประทานมาให้เอง ดังนั้นวิธีหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเหล่านี้คือดำเนินการดังต่อไปนี้และสื่อสารกับลูกก่อนเข้าในร่วมธุรกิจ

บอกลูกว่าพวกเขาจะต้องหมุนเวียนไปทำงานในตำแหน่งต่างๆ และจะต้องรายงานต่อผู้บริหารที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว ซึ่งจะเป็นผู้ฝึกสอนพร้อมกับประเมินทักษะและผลงานของลูก โดยคิดเป็น 50% ของการประเมินทั้งหมดให้ที่ปรึกษาบุคคลที่สามประเมินทักษะของลูก เฝ้าสังเกตและทำการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน โดยคิดเป็น 25% ของการประเมินทั้งหมด จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาและให้ลูกๆนำเสนอและดำเนินการตามไอเดียของตนเอง โดยคณะกรรมการเป็นผู้ให้คะแนนซึ่งคิดเป็น 25% ของการประเมินทั้งหมด

ทั้งนี้ไม่ว่าพ่อแม่จะฉลาด มีประสบการณ์ หรือพยายามไม่มีอคติมากแค่ไหน แต่ก็ยังจับตาดูและต้องการปกป้องลูกอยู่ดีตามสัญชาตญาณของพ่อแม่ทุกคน ดังนั้นการให้คนนอกทำการประเมินและกำหนดความคาดหวังตั้งแต่เนิ่นๆของกระบวนการ แม้อาจจะมีความเจ็บปวดบ้างหากลูกรู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของทีม แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาจะเห็นว่าเป็นวิธีที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย

ความไม่สอดคล้องของทักษะ (Misalignment of skills) ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเป็นผู้นำ หรือมีทักษะที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจครอบครัวเสมอไป ไม่มีทางที่พ่อแม่จะมอบธุรกิจให้กับลูกที่ไม่มีทักษะความสามารถในธุรกิจนั้นๆ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือดูว่าลูกชอบทำอะไร ถนัดอะไร และค้นหาความชอบของลูก แต่บางครั้งก็มีฝันร้ายของพ่อแม่คือลูกที่ไม่มีแรงจูงใจและไม่มีความสนใจที่สามารถมองเห็นได้

ในกรณีเช่นนี้พ่อแม่ต้องตระหนักว่าตอนนี้เหมือนกำลังวิ่งมาราธอนและจำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งต่างๆ มากมายให้ลูกได้เห็นเพื่อพิจารณาว่าพวกเขาสนใจอะไร พ่อแม่ต้องมีความซื่อสัตย์และเป็นกลาง เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นทุกคนจะเจ็บปวด โดยเฉพาะลูกที่ต้องการทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ระมัดระวังอย่าผลักดันหรือประคบประหงมมากเกินไปเพราะจะทำให้ลูกอ่อนแอ ข้อแนะนำคือการมีที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้และ/หรือทีมผู้นำในบริษัทคอยช่วยเหลือจะช่วยลดโอกาสของความล้มเหลวได้มากทีเดียว

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,866 วันที่ 2 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2566