“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ในไทย ยังตามหลังภูมิภาค จี้เร่งสปีด

06 มี.ค. 2566 | 11:09 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2566 | 11:29 น.

“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น”ในไทย ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ TMA-BCG เผยธุรกิจไทย 1 ใน 3 กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยมีการลงทุนเพื่อเร่งรัดการเติบโตทางดิจิทัล ผ่านการพัฒนาทักษะของพนักงาน แต่ภาพรวมยังตามหลังประเทศในภูมิภาค และในระดับโลก

รายงานข่าวเผยว่า สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้ความร่วมมือกับบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG)  ริเริ่มจัดทำโครงการ Thailand Digital Excellence Awards ขึ้นในปี 2563 วัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าของกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานในระดับโลก ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Digital Acceleration Index (DAI) ของ BCG ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกระบวนการประเมินความพร้อมทางดิจิทัลชั้นนำของโลกที่ติดตามวัดผลธุรกิจกว่า 15,000 แห่งทั่วโลก โดยใช้ 8 กลุ่มตัวชี้วัดหลักและ 42 ตัวชี้วัดย่อยในมิติต่าง ๆ 

ทั้งนี้ DAIได้ แบ่งกลุ่มขององค์กรเป็น 4 ระดับ เริ่มจาก Digital Starters หรือองค์กรที่เพิ่งเริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลเป็นโครงการเดียวโดด ๆ ไปจนถึง Digital Champions ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้นจากการพลิกโฉมรูปแบบของธุรกิจเดิม (Business Model) โดยใช้วิธีการทางดิจิทัลและมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยมีตัวชี้วัด 8 กลุ่มหลักครอบคลุมสมรรถนะทางดิจิทัลในด้านต่าง ๆ

“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ในไทย ยังตามหลังภูมิภาค จี้เร่งสปีด

ไล่ตั้งแต่การมีเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ไปจนถึงกระบวนการแปลงข้อมูลสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitization) ในตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนสำคัญ เช่น เทคโนโลยี ข้อมูล คน และธรรมาภิบาลองค์กร 

นอกจากช่วยวัดความพร้อมทางดิจิทัลแล้ว DAI ยังช่วยให้แนวทางปฏิบัติสำหรับการกำหนดความมุ่งมั่นสู่ดิจิทัล การจัดลำดับความสำคัญการลงทุนและความคิดริเริ่มทางดิจิทัล  และการติดอัตราเร่งให้กับกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ชั่นในทางปฏิบัติ

 ผลการศึกษาของเราพบว่าธุรกิจไทยโดยเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นบนเส้นเคิร์ฟของความพร้อมทางดิจิทัล และยังตามหลังธุรกิจอื่น ๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ เนื่องจากบริษัทไทยมีความพร้อมที่จะลงทุนเพื่อเร่งรัดอัตราการเติบโตทางดิจิทัล

“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ในไทย ยังตามหลังภูมิภาค จี้เร่งสปีด

  • การทำให้บริษัทไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก

ทั้งนี้หากไม่นับรวมภาคธุรกิจการเงินไทย ที่ได้มีพัฒนาการทางดิจิทัลไม่น้อยหน้าสถาบันการเงินในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผลการศึกษาในปี 2564 พบว่าบริษัทไทยส่วนใหญ่ยังคงตามหลังอยู่บนเส้นเคิร์ฟของความพร้อมทางดิจิทัล   อย่างไรก็ตามบริษัทไทยมิได้เพิกเฉยต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางดิจิทัลในตลอดช่วงปี 2564

พบว่าประมาณ 1  ใน 3 หรือ 36% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจได้มีการมอบหมายบทบาทงานทางด้านดิจิทัลให้กับพนักงานไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงานประจำทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 23%  ในปีก่อนหน้า

ขณะที่ 57% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจมีแผนการที่จะพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้กับพนักงานไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงานประจำทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 48%  ในปีก่อนหน้า  อย่างไรก็ตามประเทศอื่น ๆ ก็ได้มีการเร่งการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้พวกเขาทิ้งห่างประเทศไทยมากขึ้น

ประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุดน่าจะเป็นเรื่องของการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเพียงพอ เนื่องจากพบว่ามีบริษัทไทยเพียง 33% เท่านั้นที่มีการใช้จ่ายอย่างน้อย 10% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (OPEX) กับกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งเป็นอัตราที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า

ขณะที่ตัวเลขของระดับโลกนั้นเพิ่มจาก 75% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงอยู่แล้วสู่ระดับ 84% ในช่วงเวลาเดียวกัน  และขณะที่ 40% ของบริษัทไทยเตรียมที่จะลงทุนในบริการช่องทางเชื่อมต่อข้ามระบบ หรือ Application Program Interface (APIs) เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitization)  ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปีก่อนหน้า 

อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดนี้ของบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 83% ในช่วงเวลาเดียวกัน   แนวโน้มนี้เป็นเช่นเดียวกันสำหรับตัวชี้วัดด้านการให้ความสำคัญกับข้อมูล (Data-Centricity) เพราะในขณะที่ 40% ของบริษัทไทยมีการทำบูรณาการข้อมูลอย่างน้อย 10% ของปริมาณข้อมูลทั้งหมด ค่าเฉลี่ยระดับโลกทางด้านนี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 86% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ผลการศึกษานี้ได้ค้นพบแนวโน้มในเชิงบวกที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทไทยส่วนใหญ่ยังมีความกระตือรือร้นในเรื่องของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น  โดยบริษัทส่วนใหญ่ระบุว่ามีกลยุทธ์ทางดิจิทัลที่พร้อมจะนำกระบวนการทรานส์ฟอร์มกลับมาทำอีกครั้ง   ถึงกระนั้นข้อมูลจากการศึกษาพบว่าความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในด้านของงบลงทุนที่บริษัทไทยจะจัดสรรให้กับกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น 

“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ในไทย ยังตามหลังภูมิภาค จี้เร่งสปีด

  • 3 เหตุผลของการมีมุมมองเชิงบวกต่ออนาคตทางดิจิทัลของประเทศไทย 

ขณะที่ผลการศึกษาในปีที่ 3 ของโครงการ Thailand Digital Excellence Awards ที่จัดขึ้นในปี 2565 พบว่าบริษัทไทยยังคงตามหลังบริษัทอื่น ๆ ในระดับโลก มีสัญญาณบ่งบอกว่ากระบวนการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัลของประเทศไทยกำลังมีอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้

ประการแรก ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสำคัญ ในขณะที่แนวโน้มโดยทั่วไปในระดับโลกเริ่มแสดงสัญญาณของการชะลอตัวลง   คะแนนเฉลี่ยของ DAI ของประเทศไทยพุ่งขึ้น 12 จุดจาก 30 เป็น 42 จุด ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพียงหกจุด (จาก 53 เป็น 59 จุด) และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้นห้าจุด (จาก 57 เป็น 62 จุด) ในช่วงเวลาเดียวกัน วิเคราะห์ความหมายจากตัวเลขเหล่านี้ได้ว่า มีการส่งสัญญาณจากบริษัทไทยในการเริ่มไล่ล่าตามการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลกแล้ว

ประการที่สอง บริษัทไทยกำลังเพิ่มอัตราเร่งให้กับการลงทุนทางดิจิทัล ทางด้านข้อมูลปัญญาประดิษฐ์(AI) และแพลตฟอร์ม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน  อย่างไรก็ตามขณะที่ 36% ของบริษัทไทยจัดสรรมากกว่า 10% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับความคิดริเริ่มทางดิจิทัล ตัวเลขนี้ในระดับโลกอยู่ที่ 90% ดังนั้นบริษัทไทยจำเป็นต้องรักษาโมเมนตัมและเพิ่มการลงทุนทางดิจิทัลให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สาม  ผู้ชนะรางวัล Digital Excellence Awards ในปี 2565 ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของบริษัทไทยในการแสดงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล  ไม่ว่าจะเป็น เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งได้รับรางวัลในสาขา Company of the Future จากแนวทางในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในแบบองค์รวม สร้างสรรค์และล้ำสมัยตลอดทั่วทั้งองค์กร

ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง ที่ได้รับรางวัลในสาขา “Data & AI Leadership” แสดงให้เห็นถึงอิมแพคที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่ยากจะหาใครมาเปรียบได้และครบครันแก่ผู้บริโภค เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ได้รับรางวัลในสาขา “ESG Revolution” ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งและอัตราการสูญเสียพลังงาฟน  และ โพเมโล แฟชั่นซึ่งได้รับรางวัลในสาขา “Digital Disruption” จากผลสำเร็จในการผสมผสานแนวทางที่ดีที่สุดจากโลกออนไลน์และออฟไลน์และนำไปใช้กับร้านค้าปลีกในเครือข่าย  หรือเรียลสมาร์ท ที่ได้รางวัล “Digital Enablement” จากการช่วยสนับสนุนกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของลูกค้าบริษัท

องค์กรชั้นนำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเน้นย้ำว่าประเทศไทยจะสามารถประสบความสำเร็จในการไล่ตามทันชาวโลกทางด้านของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในไทยอีกด้วย