ไทยขาดดุลการค้า 4.6พันล้านดอลลาร์สูงสุดรอบ 10 ปี

02 มี.ค. 2566 | 13:52 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 14:28 น.
550

ไทยขาดดุลการค้า 4.6พันล้านดอลลาร์สูงสุดรอบ 10 ปี  ชี้นำเข้าน้ำมันสูงขึ้นบวกกับเงินเฟ้อคู่ค้าพุ่งต้นทุนผลิตสูง ส่งผลครึ่งปีแรกส่งออกแนวโน้มยังชะลอตัว แต่มั่นใจครึ่งปีพลิกฟื้น เป้าทั้งปี 1-2% ยังทำได้

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนม.ค.2566 มีมูลค่า 20,249.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.5% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 700,127 ล้านบาท โดยการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตร 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลด 3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 5.7% และยังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อ และการผลิตโลกหดตัว ทำให้มีการนำเข้าลดลง

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะลดลง แต่สินค้าสำคัญหลายตัว ยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ข้าว เพิ่ม 72.3% ไขมันจากพืชและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 124% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 50% ผลไม้สด เพิ่ม 2.5%


ไทยขาดดุลการค้า 4.6พันล้านดอลลาร์สูงสุดรอบ 10 ปี
 

ไทยขาดดุลการค้า 4.6พันล้านดอลลาร์สูงสุดรอบ 10 ปี

โดยทุเรียนสด เพิ่ม 53.3% มะม่วงสด เพิ่ม 21.9% มังคุดสุด เพิ่ม 821% ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 7.6% ยางพารา ลด 37.6% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 4.8% น้ำตาลทราย ลด 2.3% ไก่แปรรูป ลด 2.2% อาหารสัตว์เลี้ยง ลด 11%

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้มีการหารือกับภาคเอกชนในกลายกลุ่มสินค้า ประเมินเหมือนกันว่าการส่งออกในข่วงครึ่งปีแรก 2566 จะชะลอตัว และลดลง แต่ครึ่งปีหลัง การส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น และยังมั่นใจว่าเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ที่ 1-2% จะยังคงใช้เป็นเป้าในการทำงาน โดยจะเพิ่มกิจกรรมบุกเจาะตลาดที่มีโอกาสมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV รวมถึงตลาดจีน ที่มองว่ามีโอกาสส่งออกสูง

ไทยขาดดุลการค้า 4.6พันล้านดอลลาร์สูงสุดรอบ 10 ปี

ขณะที่นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่วาว่า การนำเข้าในเดือนม.ค.2566 มีมูลค่า 24,899.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% โดยปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น มาจากการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้น โดยมีมูลค่า 5,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 84% หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของมูลค่าการนำเข้ารวม และมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.2565 ที่ 77 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นเฉลี่ย 80.48 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนม.ค.2566 และมีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบสัดส่วนประมาณ 60% ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)


ทั้งนี้จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์พบว่า การส่งออกในเดือนม.ค.2566 ที่ขยายตัวติดลบ 4.5% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับจากเดือนต.ค.2565 ที่ลบ 4.4% พ.ย.2565 ลบ 6% และธ.ค.2565 ลบ 14.6% ส่วนการนำเข้าที่สูงขึ้น ทำให้ยอดขาดดุลการค้ามีมูลค่า 4,649.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นยอดขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี