ส่งออก-นำเข้าป่วน บาทอ่อนค่ารอบ 4 เดือน ผวาขาดทุน จี้ทำประกันความเสี่ยง

01 มี.ค. 2566 | 10:32 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2566 | 10:56 น.

บาทอ่อนค่ารอบ 4 เดือน ส่งออก-นำเข้าเป่าปาก คำนวณราคาซื้อขายยาก ชี้ผลพวงเงินทุนไหลออกลงทุนสหรัฐฯรับเศรษฐกิจฟื้น ดอกเบี้ยขาขึ้น สรท.แนะผู้ประกอบการทำฟอร์เวิร์ด พร้อมขอแบงก์เพิ่มวงเงินทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน ชี้ค่าบาท 34-35 บาทต่อดอลลาร์เหมาะสม แข่งขันได้

เงินบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 4 เดือน โดยวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566  อ่อนค่าที่ระดับ 35.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากต้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ สร้างความกังวลต่อภาคการส่งออกและนำเข้าของประเทศที่มีส่วนได้เสีย

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  การอ่อนค่าของเงินบาทครั้งนี้มองว่ามีปัจจัยสำคัญจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปสหรัฐฯ จากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เวลานี้ปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลง ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินจากทั่วโลกไหลไปลงทุนในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ยังผลให้บาทอ่อนค่าลง

สำหรับการอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้ถือว่าสอดคล้องกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า และคู่แข่งขันส่งออกในภูมิภาค อย่างไรก็ดีหากในอนาคตเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและฟื้นตัวดีขึ้น นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม และจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

“คงต้องจับจับตาและติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทช่วง 2 สัปดาห์นับจากนี้ไปว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวมองว่า ทิศทางค่าเงินบาทคงแกว่งตัวไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 เดือน แต่เวลานี้ค่าเงินบาทยังถือว่าอ่อนค่าสอดคล้องกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งหากค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นระดับที่เหมาะสม ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออกมีความพอใจ เพราะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้า แต่ที่สำคัญค่าเงินต้องเสถียรไม่ผันผวนมาก”

ส่งออก-นำเข้าป่วน บาทอ่อนค่ารอบ 4 เดือน ผวาขาดทุน จี้ทำประกันความเสี่ยง

อย่างไรก็ดีจากเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 4 เดือนครั้งนี้ ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการตกลงซื้อขายสินค้าที่คำนวณราคายาก จากค่าเงินไม่นิ่ง รวมถึงผลต่อการชำระค่าสินค้าของคู่ค้า ผู้ส่งออกไทยอาจขาดทุนได้ จากปกติในการส่งออก คู่ค้าจะชำระเงินค่าสินค้าประมาณ 60 วันหลังส่งมอบ เช่น ส่งออกไปเดือนกุมภาพันธ์ จะได้เงินเดือนเมษายน การอ่อน-แข็งของค่าเงินทำให้คาดการณ์กำไร-ขาดทุนยาก ขณะที่ผู้นำเข้าสินค้าเข้ามาจะได้รับกระทบต้องจ่ายแพงขึ้นตามค่าเงินที่อ่อนค่าลง

ทั้งนี้เป็นห่วงผู้ส่งออก-ผู้นำเข้ารายย่อย(เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบ จึงขอแนะนำให้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(ฟอร์เวิร์ด) และขออนุมัติวงเงินในการทำฟอร์เวิร์ดเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จากราคาสินค้า หรือวัตถุดิบนำเข้าเวลานี้ปรับตัวสูงขึ้น ยกตัวอย่างในอดีต เงิน 100 บาท ซื้อของได้ 10 ชิ้น แต่ปัจจุบันซื้อของได้ 5 ชิ้น เป็นต้น ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

“ทางสรท.ยังมั่นใจการส่งออกไทย(รูปดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปีนี้จะยังขยายตัวได้ที่ 1-2% ตามที่คาดการณ์ไว้เดิม จากเวลานี้เศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจใหญ่ของโลกคาดจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ 5.2% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ขยายตัว 4.4% โดยหลังจีนเปิดประเทศ คาดเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น”นายชัยชาญ กล่าว

อนึ่ง ในปี 2565  จากเงินบาทอ่อนค่า และผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อราคาพลังงาน สินค้าและวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนำเข้าของไทยในปีที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้น โดยไทยมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในปี 2565 มูลค่ากว่า 10.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 25% และมีผลทำให้ไทยขาดดุลการค้ากว่า 7.02 แสนล้านบาท (ปี 2565 ไทยมีการส่งออก 9.94 ล้านล้านบาท)