ชาวปทุมธานี ค้านหนัก ปมใช้รถฟีดเดอร์เชื่อม “สายสีแดง”

28 ก.พ. 2566 | 16:28 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2566 | 16:50 น.

ชาวปทุมธานี โวย สนข. ปมใช้รถฟีดเดอร์เชื่อม “รถไฟสายสีแดง” หวั่นรถติดหนัก หลังพื้นที่รถโดยสาร BRT มีจำกัด กระทบผู้โดยสารใช้บริการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานขนส่งจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับ หน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีรถไฟรังสิต 

ชาวปทุมธานี ค้านหนัก ปมใช้รถฟีดเดอร์เชื่อม “สายสีแดง”

นายนราชัย ตันติวรวิทย์ จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สำหรับแผนการจัดทำระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) ในเส้นทางสถานีรถไฟฟ้ารังสิต - ธัญบุรี คลอง 7 (ถนนรังสิต-นครนายก) จะมีการจัดทำระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) ในรูปแบบ Bus Rapid Transit (BRT) ที่มีการกันช่องทางการเดินรถบนถนนมาเป็น Bus lane เพื่อให้รถโดยสาร BRT ทำการเดินรถแบบย้อนศร (Reversible) ในชั่วโมงเร่งด่วน 
 

นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ กรรมการ บริษัท ธัญบุรีขนส่ง จำกัด กล่าวว่า การจัดทำระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) ในครั้งนี้ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นโครงการฯที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร เพราะพื้นที่สร้างป้ายรอรถโดยสาร BRT ค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถป้องกันผู้โดยสารที่ยืนรอเวลารถเสียหลัก อีกทั้งถนนเส้นดังกล่าวในช่วงคลอง 4 – 7 มีช่องจราจรเพียง 3 ช่องจราจรเท่านั้น ซึ่งการปิดช่องจราจรเพื่อให้ BRT ใช้เดินรถจะทำให้เหลือช่องจราจรแค่ 2 ช่อง และจะทำให้รถติดขัดมากขึ้น

นายชั้น รักษ์สูงเนิน ผู้แทนภาคประชาชน กล่าวว่า โครงการนี้ไม่น่าจะได้ผลเนื่องจากโครงการที่จะทำเลนพิเศษบนถนนจะไปเบียดเบียนพื้นผิวการจราจร แล้วรถยนต์มีแต่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน เว้นเสียแต่ว่าจะไม่ลดช่องทางการจราจร
 

พล.ต.ท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี  กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากผิวการจราจรเดิมก็มีจำกัดอยู่แล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาก็ต้องเป็นระบบรางโมโนเรลซึ่งไม่รบกวนพื้นผิวจราจร และทาง อบจ. ก็ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานีในวันนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายปกรณ์พัฒน์ เทพเอื้อตระกูล นายกสมาคมส่งเสริมการค้าธุรกิจท่องเที่ยวปทุมธานี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยว่าโครงการรถโดยสาร BRT จะทำให้เสียพื้นผิวการจราจรและทำให้รถติดมากกว่าเดิม ทั้งนี้ อบจ. มีโครงการที่จะทำโมโนเรลอยู่แล้ว ถ้าทำโครงการนี้แล้วต่อไปจะทำโมโนเรลก็จะต้องใช้งบประมาณในการรื้อโครงการนี้ออก นอกจากนี้ผมอยากให้มีการสร้างสะพานข้ามจุดที่เป็นทางร่วมทางแยก ซึ่งจะใช้เป็นจุดกลับรถได้ด้วย (สะพานบก)

ชาวปทุมธานี ค้านหนัก ปมใช้รถฟีดเดอร์เชื่อม “สายสีแดง”

นายฉัตรชัย ภู่อารีย์ ประธานเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้โดยสารรถสาธารณะ กล่าวว่า ถนนไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับ BRT และการนำรถ BRT เข้ามาให้บริการนั้นเป็นการริดรอนสิทธิ์ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นที่ไม่ได้ใช้ BRT สร้างปัญหาให้กับคนจำนวนมากที่ใช้เส้นทางดังกล่าว

นายสายัณห์ ดีเลิศ ตัวแทนเครือข่ายคนพิการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า การไปขึ้นรถ BRT ต้องข้ามสะพานลอยไปแต่ยังไม่มีลิฟท์ให้คนพิการที่ต้องนั่งรถเข็น และไม่มีทางลาดสำหรับขึ้นสะพานลอยด้วย

รวมถึงยังไม่มีช่องทางเดินที่เหมาะสมกับผู้พิการทางการเห็นและคนหูหนวก โครงการนี้มองแล้วก็ยังไม่เหมาะ จะสร้างอะไรสำหรับคนกลุ่มใหญ่ของสังคมอยากให้เอาคนที่อ่อนแอที่สุดของสังคมเป็นตัวตั้ง ถ้าคนที่อ่อนแอที่สุดของสังคมสามารถใช้ได้ทุกคนทุกกลุ่มของสังคมก็ใช้ได้เช่นกัน

นายภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับรถไฟฟ้าโมโนเรล แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรถโดยสาร BRT และอยากให้มีการสร้างสะพานบกด้วย

ชาวปทุมธานี ค้านหนัก ปมใช้รถฟีดเดอร์เชื่อม “สายสีแดง”

พ.ต.ท.สุรชา โคตรวงษ์ทอง สวป.สภ.คูคต กล่าวว่า ผมอยู่ปทุมธานีมา 20 กว่าปีแล้ว ตอนนี้การจราจรติดหนักมาก แค่ทำท่อประปาบนถนนรถก็ติดมากแล้ว ถ้าจะใช้เลนตรงเกาะกลางมันคงจะเป็นไปได้ยาก ถึงจะใช้เลนให้วิ่งสวนในชั่วโมงเร่งด่วนก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะทั้งชั่วโมงเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วน รถมันติดเหมือนกันทั้ง 2 ฝั่ง ขาเข้า – ขาออกรถติดเท่ากัน 

ว่าที่ ร.ต.สมพร ภูวดลไพศาล ปลัดเทศบาลตำบลลำลูกกา กล่าวว่า ในฐานะชาวบ้านผู้ใช้ถนนบริเวณคลอง 2 ธัญญะ กล่าวว่าแค่ซ่อมท่อประปารถก็ติดยาว ถ้าทำ Bus lane จะทำให้รถติดเพิ่มขึ้น 

ผศ.ดร.อนันต์ ธรรมชาลัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับระบบ Feeder นี้ เนื่องจากเรามีทางเลือกอื่นอีกหลายทาง และเห็นด้วยแนวทางจัดทำระบบโมโนเรลของ อบจ. และยังได้เสนอระบบการจราจรทางน้ำ และการขยายถนนอีกฝั่งคลองของถนนรังสิต-นครนายก ซึ่งในส่วนของการใช้เรือโดยสาร นายก อบจ. ได้ให้ความเห็นว่าอาจจะไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะสมนักเพราะจะต้องทำเขื่อนตลอดแนวเพื่อป้องกันตลิ่งพัง