ปิดมหากาพย์ “บริษัทร่วมทุนยางพาราไทย”

26 ก.พ. 2566 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2566 | 17:09 น.
1.1 k

จบแล้ว มหากาพย์ “บริษัทร่วมทุนยางพาราไทย” กยท.ปิดกิจการ “วรเทพ-กรกฎ”โล่งอก ชี้เป็นบทเรียน ก่อนแยกย้าย หักลบค่าใช้จ่าย- ขาดทุน พร้อมคืนทุน ตามหุ้นที่ได้ระดมทุนไว้

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังคงติดตามความคืบหน้า  การดำเนินงาน บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด  อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมลงทุน กับบริษัทยางรายใหญ่ 5 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี, บมจ. ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย), บมจ. ไทยฮั้วยางพารา ,บจก. วงศ์บัณฑิต  และ บจก.เซาท์แลนด์รับเบอร์ รายละ 200 ล้านบาท รวม 1,200 ล้านบาท จดทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อ วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ทุนจดทะเบียน 1,200 ล้านบาท

 

โดยมีกรรมการบริษัทเริ่มแรก  6 คน ได้แก่ 1. นายธีธัช สุขสะอาด 2. นายวิชญ์พล สินเจริญกุล 3. นายภัทรพล วงศาสุทธิกุล 4. นายกรกฎ กิตติพล 5. นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต และ 6. นายชำนาญ นพคุณขจร กรรมการมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท คือ นายธีธัช สุขสะอาด ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีก 2 คน รวมเป็น 3 คน หรือกรรมการจำนวน 4 คนลงลายมือชื่อร่วมกัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 67/25 ถ.บางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม.

วรเทพ วงศาสุทธิกุล

 

ล่าสุด นายวรเทพ  วงศาสุทธิกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) อดีตกรรมการผู้ถือหุ้น บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เลิกกิจการแล้ว และได้รับเงินคืนมาเรียบร้อยแล้วกว่า 40% ที่ได้เงินลงทุนไป ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว มีผลดำเนินการขาดทุนกว่าครึ่งหนึ่ง 

 

"แต่ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการบันทึกลงบัญชีว่าขาดทุน แล้วด้อยค่าทางบัญชีไปแล้ว ส่วนในอนาคตหากจะมีการลงทุนในลักษณะนี้อีกไม่เอาแล้ว ส่วนนโยบายรัฐบาลก็ยังคงต้องดูผลจากการเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะวันนี้คงจะไม่มีมาตรการนโยบายอะไรออกมาเพราะไม่มีเงิน อย่างเก่งก็แค่ “ประกันราคายางพารา” ชดเชยให้กับชาวสวนยางตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้"

 

กรกฏ กิตติพล

 

สอดคล้องกับกรกฏ   กิตติพลผู้จัดการฝ่ายการตลาด บมจ. ไทยฮั้วยางพารา กล่าวว่า ได้เงินคืนส่วนหนึ่ง จากบริษัทที่ได้ไม่ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 3-4 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัย นายธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้ว่าการการ กยท. ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนหมดวาระไป ก็ไม่ได้ทำเลย บัญชีก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว แล้วพยายามเคลียร์ของที่ กยท.ซื้อยางเข้ามาก็ขาดทุน แล้วตอนช่วงระดมทุนก็มีบางบริษัทให้ครบ 200 ล้านบาท บางบริษัทก็ให้ไม่ครบ เรียกว่าใครที่ให้เต็มจำนวนหุ้น ต้องคืนเงินส่วนที่เหลือกลับไปให้ก่อนเพื่อความยุติธรรม

 

"หากย้อนเวลากลับไปในวันนั้นก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเต็มใจ และไม่เต็มใจที่จะช่วยเพราะจำนวนเงินค่อนข้างเยอะ การจัดการเหมือนเอามาซื้อนำตลาด เหมือนบริจาค เพราะความจริงในวันนั้นก็ตั้งใจกันอยู่แล้วว่าไม่ได้ทำบริษัทเพื่อกำไร แต่ทำเพื่อรักษาเสถียรภาพ รักษาตลาดให้มีการซื้อขายคึกคัก"

 

ผู้สื่อข่าว ถามว่า  ในอนาคตหากมีรัฐบาลชุดใหม่ มาขอความร่วมมือในลักษณะแบบนี้อีก นายกรกฏ  กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ต้องพิจารณาบริบทในวันข้างหน้าในวันนั้นเงินที่จะเอาไปเอาไปทำอะไร ยกตัวอย่างหากนำไปตั้งบริษัท พัฒนาวงการยางพารา พัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการให้มีทิศทางที่ดีดูชัดเจน  เช่น มาตรฐาน FSC  เป็นต้น ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้กำไรในวันนี้ อาจจะยาวไป 10-20 ปี อาจจะพอมีกำไร ก็ได้ในอนาคต ไม่ได้ดูแบบว่าเอาเงินไปใช้โดยเปล่าประโยชน์

 

 

 

เปิดบัญชีงบกำไรขาดทุน

 

อนึ่ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  กระทรวงพาณิชย์ รายงานสถานะ บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด แจ้ง (สถานะยกเลิก) ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี

 

ผู้ชำระบัญชี คือ นายวิชญ์พล สินเจริญกุล และนายภัทรพล วงศาสุทธิกุล  โดยให้ผู้ชำระบัญชีทุกคนกระทำร่วมกัน เว้นแต่การดังกล่าวต่อไปนี้ได้กำหนดอำนาจให้ทำแยกกันได้ คือ การดำเนินการใดๆ เพื่อให้การเลิกและชำระบัญชีเสร็จสิ้นไปให้ผู้ชำระบัญชีหนึ่งคนลงลายมือชื่อ

 

ปิดมหากาพย์ “บริษัทร่วมทุนยางพาราไทย”