“ทางยกระดับดอนเมือง” ซุ่มศึกษาสร้างทางขึ้น-ลง ถนนวิภาวดีรังสิต แก้รถติด

13 ก.พ. 2566 | 13:51 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2566 | 15:14 น.

“ทางยกระดับดอนเมือง” จ่อถก ทางหลวง สร้างทางขึ้น-ลง ถนนวิภาวดีรังสิต 21 กม. แก้ปัญหารถติดในอนาคต เดินหน้าขยายธุรกิจ ดันกลยุทธ์แสวงหาโอกาส ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาบริษัท ได้ส่งข้อมูลปริมาณจราจรบนทางยกระดับดอนเมือง และข้อมูลปริมาณจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ทางเข้า-ออก สนามบิน ที่บริษัทฯ เก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ ทอท. ใช้ในการศึกษาออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3  ในภาพรวม 

“ทางยกระดับดอนเมือง” ซุ่มศึกษาสร้างทางขึ้น-ลง ถนนวิภาวดีรังสิต แก้รถติด

“เรายินดีที่จะสนับสนุนโครงการต่อไปในขั้นตอนปัจจุบันที่จะมีการการออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ที่ผ่านมาได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อคิดเห็นในการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาในการสร้างทางเชื่อม และ ด้านวิศวกรมจราจร ในการวิเคราะห์รูปแบบออกแบบตำแหน่งทางเชื่อมสนามบินดอนเมืองเพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านการจราจร”  
 

ขณะเดียวกันบริษัทได้รับทราบแนวทางการออกแบบของ ทอท. ที่มีการปรับปรุงแก้ไขหลายรูปแบบ โดยบริษัทฯ ยืนยันว่ายินดีสนับสนุน เพราะเห็นว่าการพัฒนาโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการพัฒนาประเทศในภาพรวมเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีท่องเที่ยวที่ใช้บริการสนามบินดอนเมืองมากยิ่งขึ้น 

ส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนนวิภาวดีนั้น ทางบริษัทได้พิจารณาศึกษาโครงการทางเชื่อมยกระดับอุตราภิมุขในบริเวณต่างๆ ที่มีความเหมาะสม ทั้งด้านวิศวกรรมโครงสร้าง  ด้านวิศวกรรมจราจร  ด้านความเหมาะสมด้านการเงิน  และข้อสัญญาสัมปทาน 
 

ดร.ศักดิ์ดา  กล่าวต่อว่า  ที่ผ่านมาบริษัทได้หารือ ด้านโครงสร้างและด้านวิศวกรรมจรารจร ร่วมกับ ทอท.พบว่า ทางเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองเชื่อมกับทางยกระดับอุตราภิมุขโดยตรงที่ ทอท. ออกแบบนั้นมีความเหมาะสม เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสารสนามบิน จากในปัจจุบันที่จะต้องออกประตู 8 ก็สามารถใช้ทางยกระดับดอนเมืองได้โดยตรงช่วยลดความแออัดบนถนนวิภาวดีรังสิต ได้อย่างมาก

ทั้งนี้ทางเชื่อมดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการของ บริษัทฯ เนื่องจากได้พัฒนาระบบ M-pass และEasy Pass  ไว้เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการที่เพิ่มขึ้นในอนาคตสำหรับทางขึ้นลงบริเวณอื่นๆ

ด้านการศึกษาการลงทุนก่อสร้างทางเชื่อม ทางขึ้น-ลง อื่นๆ บนโครงข่ายถนนวิภาวดีรังสิตนั้น บริษัทจะหารือกับกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด บนถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อให้ผู้ใช้ทางได้ประทับใจในการให้บริการของบริษัท

สำหรับโครงการสัมปทานทางยกระดับช่วงดินแดงถึงอนุสรณ์สถาน หรือทางยกระดับดอนเมือง ระยะทาง 21 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ทางหลวงสัมปทานเดิม ช่วงดินแดง-ดอนเมือง และส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ช่วงดอนเมืองอนุสรณ์สถานฯ โดยบริษัทเป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งมีอายุสัมปทานถึงวันที่ 11 กันยายน 2577  

ทั้งนี้บริษัทจะดำเนินการบริหารทั้งการจัดเก็บค่าผ่านทาง, การอำนวยความสะดวกในการจราจร การกู้ภัยและการซ่อมบำรุงรักษาทางยกระดับ ประกอบด้วยด่านเก็บค่าผ่านทาง 11 ด่าน, มีทางขึ้น 15 แห่ง และทางลง16 แห่ง  “ทางยกระดับดอนเมือง” ซุ่มศึกษาสร้างทางขึ้น-ลง ถนนวิภาวดีรังสิต แก้รถติด

ดร.ศักดิ์ดา  กล่าวต่อว่า  ขณะที่แผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของบริษัทฯ ในปี 2566 นี้ ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ตั้งคณะทำงานทั้งหมดเพื่อคลอบคลุม  7 ยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนทางธุรกิจ  เช่น คณะทำงานSafer Road Traffic Management7, คณะทำงาน Inclusive Growth, คณะทำงาน Other Non-Toll Road Business ,คณะทำงาน DMT Excellence Recognition ฯลฯ 

 

“บริษัทยังมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นๆการร่วมมือกับทางด่วนญี่ปุ่นในการศึกษาลงทุนทำธุรกิจด้าน Inspection/Maintenance และยุทธศาสตร์ Inclusive Growth ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาจุดเชื่อมต่อกับโครงการต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3, สถานีกลางบางซื่อ” 

นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอีกด้วย ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายตัวของชุมชนโดยรอบทางรถไฟฟ้าสายสีแดง  การขยายตัวของเมืองรังสิต ปทุมธานี ที่กำลังมีหมู่บ้านและชุมชนเกิดขึ้น