คนไทยต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ ถึงจะใช้ชีวิตอยู่ได้จนอายุ 100 ปี

12 ก.พ. 2566 | 12:57 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2566 | 13:34 น.
2.4 k

เปิดรายงาน สศช. แผนการพัฒนาประชากรในระยะยาว ชี้ชัดคนไทยยังเจอปัญหาจนก่อนแก่ เช็คข้อมูลหากใครจะใช้ชีวิตได้จนถึงอายุ 100 ปี ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ถึงอยู่รอด

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานแผนการพัฒนาประชากร เพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะยาว ช่วงปี 2565 – 2580 โดยระบุถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนและยังต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น ต้องมีเงินเก็บจำนวนมาก เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้จนถึงอายุ 100 ปี

1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย “ยากจน”

จากการสำรวจผู้สูงอายุในปี 2564 พบว่า มีผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนถึง 34% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ ทั้งหมด ซึ่งแหล่งรายได้ในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มาจากการทำงาน 32.4% จากบุตร 32.2% และ เบี้ยยังชีพ 19.2% 

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุประมาณ 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท และมีแนวโน้มอยู่คนเดียว ตามลำพังเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2557 เป็น 12% ในปี 2564 และอยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเพิ่มขึ้นจาก 20.6% เป็น 21.1%

อีกทั้ง หากจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามรายได้ต่อปี พบว่า มากกว่า 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี

 

ภาพประกอบข่าว การออมเงินของคนไทยต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ ถึงจะใช้ชีวิตอยู่ได้จนอายุ 100 ปี

ต้องเก็บเงิน 4.3 ล้านเพื่อให้อยู่ถึง 100 ปี

จากรายงานเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านการเงินและ สุขภาพในสังคมอายุยืนของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยังระบุว่า คนรายได้ปานกลางอาศัยใน “เขตเมือง” จะต้องเก็บออมเงินประมาณ 4.3 ล้านบาท เมื่ออายุ 60 ปี ถึงจะมี เงินเพียงพอใช้จ่ายจนถึงอายุ 100 ปี 

ส่วนคนรายได้ปานกลาง ที่อาศัยใน “เขตชนบท” จะต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในปี 2562 พบว่า มีครัวเรือนเพียง 1.2 แสนครัวเรือนเท่านั้น ที่มีรายได้สูงกว่า 2.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของครัวเรือนทั้งประเทศ

 

รายได้ของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน

โดยสรุป จะเห็นได้ว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการดำเนินการ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้าน โครงสร้างประชากร แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันและการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ยังมีช่องว่างการดำเนินการหลายประเด็น ที่ยังต้องจัดการอีกหลายเรื่อง 

ประกอบกับในช่วงระยะเวลาต่อไป อัตราการสูงวัยของประเทศไทยจะมีแนวโน้มสูงขึ้น มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ขณะที่คุณภาพของประชากรและการยกระดับคุณภาพประชากรในช่วงที่ผ่านมายังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้นการปรับกลยุทธ์และเพิ่มความเข้มข้น จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ