กยท. ชี้ยางพาราโลกขาดแคลน-ไทยเพิ่มใช้ในประเทศ ผลดีเกษตรกร

09 ก.พ. 2566 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2566 | 12:49 น.

บิ๊กกยท. อัพเดท ไตรมาส 1 ปี 66 ตลาดยางโลกขาดแคลน” ขณะไทยคาดส่งออกลดลง หันมาใช้ยางในประเทศเพิ่มกว่า 1 ล้านตัน ปัจจัยบวกเพียบทั้งดีมานด์โต หนุนราคายางพุ่ง อีกด้านประชาสัมพันธ์ โหมโรงชวนชาวสวนยางทำมาตรฐาน FSC ผ่านตลาดกลาง การันตีได้ราคาสูงกว่าราคายางทั่วไป 6-10 %

กยท. ชี้ยางพาราโลกขาดแคลน-ไทยเพิ่มใช้ในประเทศ ผลดีเกษตรกร

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์  ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยผ่านงาน  “Talk About Rubber”  กล่าวว่า สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ  The Association of Natural Rubber Producing Countries (ANRPC)  คาดการณ์ปี 2566 ปริมาณผลผลิตยางโลกมีประมาณ 14.310 ล้านตัน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และคาดว่าปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 15.563 ล้านตัน มีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5 ถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคายางพาราโลก

 

กยท. ชี้ยางพาราโลกขาดแคลน-ไทยเพิ่มใช้ในประเทศ ผลดีเกษตรกร

สำหรับผลผลิตยางของไทย เดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลผลิตลดลงกว่าที่คาดไว้ร้อยละ 26 เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม และสถานการณ์ระบาดของโรคใบร่วงทำให้เข้าสู่ฤดูปิดกรีดยางเร็วขึ้นกว่าปีก่อน ส่วนมีนาคมและเมษายน 2566 มีผลผลิตยาง 177,100 ตัน และ 118,231 ตัน ตามลำดับ ปริมาณการส่งออกยางของไทย คาดว่าในปี 2566 ไทยมีปริมาณการส่งออกยาง ประมาณ 4.403 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากมีใช้ยางในประเทศขยายตัวสูงขึ้น ร้อยละ 9.9 หรือมีปริมาณใช้ยางประมาณ 1.040 ล้านตัน

กยท. ชี้ยางพาราโลกขาดแคลน-ไทยเพิ่มใช้ในประเทศ ผลดีเกษตรกร

 

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยาง ดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ภาคการผลิตเดือนมกราคมของจีนปรับตัวขึ้นแตะระดับ 50.1 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว ซึ่งมีผลบวกต่อราคายางในอนาคต ในขณะที่ PMI ของประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(EU) แม้จะอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 แต่สภาวการณ์ถดถอยอาจไม่รุนแรงเนื่องจากมีทิศทางขยับเข้าใกล้แตะระดับ 50

 

 

กยท. ชี้ยางพาราโลกขาดแคลน-ไทยเพิ่มใช้ในประเทศ ผลดีเกษตรกร

 

ส่วนอุตสาหกรรมยางล้อ  บริษัทวิจัยด้านการตลาดและเทคโนโลยี technavio รายงานว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรมยานยนต์โลกจะเติบโตขึ้น 5.33%  สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน (CAAM) รายงานว่า ในปี 2565 ยอดขายรถยนต์แบรนด์จีนเพิ่มขึ้น 22.8% ทั้งนี้ จีนจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ผลิตในประเทศได้ประมาณ 11.77 ล้านคัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 49.9% เพิ่มขึ้น 5.4 จุดเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

กยท. ชี้ยางพาราโลกขาดแคลน-ไทยเพิ่มใช้ในประเทศ ผลดีเกษตรกร

 

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมถุงมือยางบริษัทวิจัยด้านการตลาดและเทคโนโลยี technavio รายงานว่า ในปี 2023 อุตสาหกรรมถุงมือยางโลกจะเติบโต 6.9%  

สถานการณ์การยางพาราปี 2566  โอกาสของยางพารา

1. ฤดูกาลและสภาพอากาศ ประเทศจีนเข้าสู่ฤดูหนาว สวนยางในมณฑลยูนนาน และมณฑลไห่หนาน จึงหยุดกรีดยางแล้ว ส่วนประเทศไทยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า เดือนมีนาคมจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง ส่งผลต่อผลผลิตยางที่ลดลง

2. ผลผลิตยางจากอินโดนีเซียลดลง ค่าแรงในสวนยางเพิ่มสูง เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มหันไปปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น

3. จีนประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระตุ้นความต้องการยางล้อและยางธรรมชาติ

4. สหรัฐอเมริกาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ตามที่ตลาดคาด Fed เริ่มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่มีโอกาสผ่อนคลายมากขึ้น และมีมุมมองต่อเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง

5.ค่าระวางเรือเริ่มกลับสู่สภาวะปกติเท่าช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และมีปริมาณตู้สินค้าเพียงพอ สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น

6.IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.9% เพิ่มขึ้น 0.2% จากที่เคยคาดการณ์

 

 

 ความท้าทายของยางพาราในปี 2566ที่อาจส่งผลกระทบ

1. ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า ปี 2566 มีโอกาสที่อาจเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเงินเฟ้อ

2. ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามที่ยืดเยื้อทำให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานในยุโรป ส่งผลต่อวิกฤตค่าครองชีพ (Cost of living crisis)

3. ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลกมีแนวโน้มสูง เป็นผลจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น  การตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐ กับจีน รวมทั้ง ความตึงเครียดทางการค้าในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซีย  ส่วน3.3 สหรัฐ จำกัดการส่งออกวงจรรวมและส่วนประกอบ (Semiconductor) และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการออกแบบและผลิตไปยังจีน

 

กยท. ชี้ยางพาราโลกขาดแคลน-ไทยเพิ่มใช้ในประเทศ ผลดีเกษตรกร

ด้าน นายกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า  ปัจจุบันเทรนด์โลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่มีความเหมาะสม รวมถึงประเทศผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่ต้องผลิตมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิถูกกฎหมายของประเทศผู้ผลิตต้นทาง และระบบ Due Diligence สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ดังนั้น กยท. ได้เสริมสวนยางไทยให้เข้าสู่ระบบการรับรองป่าไม้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี ตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยว แปรรูป โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่สวนยาง 500,000 ไร่ ในปี 2565 และ 15 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี

ปัจจุบัน กยท. ผลักดันให้เกิดการซื้อ - ขายผลิตภัณฑ์จากยางพารามาตรฐานสากลผ่านระบบตลาดยางพาราของ กยท. ซึ่งราคาขายจะสูงกว่าราคายางทั่วไป 6-10 % ทั้งนี้ กยท. โดยฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจยางจะทำหน้าที่รวบรวมคำสั่งซื้อ (ชนิดยาง ปริมาณ ที่ตั้งของตลาดผู้ซื้อ) ประสานไปยังตลาดกลางฯ ของ กยท. เพื่อหาผลผลิตยางพรีเมียมจาก กยท.เขตและจังหวัด ซึ่งมีข้อมูลสวนยางที่ผ่านมาตรฐานและผลผลิตยางตรงตามที่ผู้ซื้อต้องการ

กยท. ชี้ยางพาราโลกขาดแคลน-ไทยเพิ่มใช้ในประเทศ ผลดีเกษตรกร

กยท. ได้รับมาตรฐาน FSC-CoC สำหรับการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ และตลาดกลางยางพารา พร้อมรองรับการซื้อขายยางพรีเมียมจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีภาคเอกชนหลายแห่งสนับสนุน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านธุรกิจภายใต้ระบบมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนด้านยางพารากับ กยท. และมีออร์เดอร์ยางพรีเมียมในระยะ 1-5 ปี แล้ว

สำหรับการซื้อขายยางพรีเมียมผ่านตลาด กยท. ช่วยให้เกษตรกรที่ทำสวนยางตามมาตรฐานสากลมีตลาดรองรับ ขายยางได้ในราคาสูงกว่ายางทั่วไป  ด้านผู้ซื้อจะได้รับยางที่มีคุณภาพและมาตรฐานรับรอง ลดความเสี่ยงของปัญหาในกระบวนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของสินค้าที่นำยางไปเป็นวัตถุดิบ