เปิดวิธีแก้จนด้วยการแก้ที่ดินทำกิน ยกระดับที่ ส.ป.ก. สร้างอาชีพใหม่

08 ก.พ. 2566 | 16:52 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2566 | 17:10 น.

เปิดวิธีแก้จนด้วยการแก้ที่ดินทำกิน ยกระดับที่ ส.ป.ก. สร้างอาชีพใหม่ ระบุกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความระบุว่า ปัญหาที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก.  มีมายาวนาน เป็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในประเด็นดังนี้

  • พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พ.ศ. 2518 มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกษตรกรที่ยากจนทำการเกษตร ถึงวันนี้ 48 ปีแล้วสภาพพื้นที่ดินและเศรษฐกิจบางพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแต่ยังคงต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ออกมาใช้เมื่อ 48 ปีก่อน ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริง
  • ที่ดินซึ่ง ส.ป.ก.ได้รับมาจากกรมป่าไม้จำนวน 36 ล้านไร่ ไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับการทำเกษตรหรือไม่ เช่น ที่ดินไม่มีน้ำหรือเป็นที่ดินที่สภาพดินไม่ดี ทำให้ที่ดินจำนวนมากซึ่งไม่เหมาะสมกับการทำเกษตร เกษตรกรผู้ถือครองควรจะทำอาชีพอื่นก็ทำไม่ได้ เกษตรกรจึงไม่มีรายได้และยากจนจนถึงปัจจุบัน
  • ประชาชนที่ได้รับมอบที่ดินไปแล้วประมาณ 2.85 ล้านครอบครัว หลายรายมีอายุเกินกว่า 60 ปีซึ่งมีมากกว่า 1 ล้านครอบครัวไม่มีความสามารถทำการเกษตรและ ไม่มีบุตรหลานที่จะมารับช่วงทำการเกษตรต่อได้ ก็ยังถือครองที่ดินไว้ แต่ปล่อยที่ดินว่างเปล่าหรือขายให้กับเกษตรกรด้วยกันแบบไม่ถูกต้อง
  • มีการถือครองที่ดินอย่างไม่ถูกต้องหรือมีนายทุนไปบุกรุกจับจองที่ดินโดยผิดกฎหมาย ซึ่งต้องมีการสะสางให้ถูกต้องและนำที่ดิน ส.ป.ก. มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติโดยส่วนรวม

 ศ.ดร.นฤมล ระบุอีกว่า ทางแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย  

  • ต้องจำแนกประเภทที่ดินให้ตรงกับสภาพที่แท้จริงของการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามความเป็นจริง

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

  • ปรับแก้ไขคุณสมบัติของผู้ถือครองที่ดินในปัจจุบันซึ่งได้รับมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายสามารถขอใช้ที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตรงกับสภาพที่แท้จริงของพื้นที่และความต้องการของตนเอง
  • หากผู้ถือครองที่ดิน รายใดไม่สามารถนำที่ดินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ก็สามารถสละสิทธิ์ หรือเปลี่ยนมือให้กับผู้อื่นซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายรับสิทธิ์การครอบครองเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแทน
  • ที่ดินส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมยังคงมีไว้เหมือนเดิมเพื่อให้เกษตรกรที่มีอาชีพการทำการเกษตรและมีรายได้จากการเกษตรเป็นหลักทำอาชีพเดิมต่อไป โดยรัฐ (ส.ป.ก.)จะต้องประสานและสนับสนุนให้มีการพัฒนาเรื่องแหล่งน้ำและสาธารณูปโภค แก่เกษตรกรในพื้นที่ดินของ ส.ป.ก. ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

"แก้ปัญหาที่ทำกินให้เกษตรกรได้ จึงจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกรได้อย่างแท้จริง"

สำหรับประเทศไทยนั้น มีจำนวนประชากรในภาคเกษตรมากถึง 25 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด แต่เป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ อีกทั้งยังขาดความมั่นคงทางรายได้ มีความผันผวนตามฤดูกาล

กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5,000 บาท ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 16,000 บาท ประมาณ 40% ถือครองที่ดินเพียง 1 - 10 ไร่ และอีก 8% ไม่มีที่ดินทำกิน นอกจากนี้ ที่ดินที่ถือครองในหลายพื้นที่ มีสภาพไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร