คลังยื้อเพิ่มทุนเหมืองแร่โปแตซอาเซียน

02 ก.พ. 2566 | 18:59 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2566 | 19:20 น.
548

คลังแจงรายละเอียดฟื้นโครงการ “เหมืองแร่โปแตชอาเซียน”แก้ปัญหาปุ๋ยแพง ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ขาดข้อมูลอัพเดททั้งปริมาณแร่ จุดคุ้มทุน และดีมานด์ ซัพพลาย แถมประเทศอาเซียนเป็น 10 ประเทศ

กรณีกระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางการดําเนินการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน)ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ซึ่งครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาความจําเป็นและความเหมาะสมในการลงทุนโครงการทําเหมืองแร่โปแตช ที่อ.บําเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ วงเงินลงทุนรวม 63,800 ล้านบาท ให้เป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน(Basic Agreement on ASEAN Industrial Projects)

ล่าสุดนางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ชี้แจงรายละเอียดกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กระทรวงการคลังรายงานครม.เกี่ยวกับสถานการณ์บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) เนื่องจากภาคเอกชนที่ถือหุ้นด้วยมองว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่ปุ๋ยราคาแพง 

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)

ขณะที่บริษัทมีแร่โปแตชอยู่สามารถขุดแร่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ได้ แต่อาจจะใช้เงินอีกหลายหมื่นล้าน เพื่อลงทุนขุดแร่ขึ้นมา ซึ่งบริษัทต้องดำเนินการกู้เงิน จึงอยากจะขอเพิ่มทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ

ทั้งนี้ครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะเจ้าของโครงการเข้ามาพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งตามข้อตกลงที่กระทรวงอุตสาหกรรมทำร่วมกับอาเซียนในอดีตมี 5 ประเทศและแต่ละประเทศต้องมีเจ้าของร่วมกัน 1 โครงการ ซึ่งโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนเป็นโครงการที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม โดยมีเงื่อนไขภาครัฐต้องถือหุ้น 20% แต่ขณะนี้อาเซียนมีกว่า 10 ประเทศแล้ว หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะเจ้าของโครงการต้องมีการดำเนินงานในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่การเสนอปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น

ขณะที่ในส่วนของกระทรวงการคลังเองมีการรับทราบข้อผูกพันที่รัฐจะต้องถือหุ้น แต่คลังมองว่า หากจะต้องเพิ่มทุนต้องใช้เท่าที่จำเป็นก่อน จึงให้บริษัทกลับไปทำรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลปริมาณแร่ จุดคุ้มทุน ดีมานด์ ซัพพลาย เพื่ออัพเดทข้อมูลให้เรียบร้อยก่อน จึงได้รายงานครม.เพื่อทราบ

“ผลการศึกษาโครงการไม่ได้อัพเดทข้อมูล เนื่องจากทำมาหลายปีแล้ว ถ้าใช้ผลการศึกษาเดิมสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปแล้ว เราจึงขอให้ทางบริษัทไปดำเนินการให้เรียบร้อย ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันหากบริษัทต้องไปดำเนินการกู้เงินจากสถาบันการเงิน แบงก์ก็ต้องดูความเป็นไปได้เหมือนกัน ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเจ้าภาพจะต้องไปดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย”นางปานทิพย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า วงเงินที่บริษัทจะขอเพิ่มทุนจากรัฐเป็นเท่าใด ต้องรอรายละเอียดผลการศึกษาออกมาก่อน แล้วกระทรวงการคลังจะมาพิจารณาผลอีกครั้ง ส่วนกระบวนการเพิ่มทุนจะดำเนินการเมื่อใดนั้นขึ้นกับกระบวนการศึกษาของบริษัทว่าจะเสร็จเมื่อไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ยืดเยื้อยาวนานกว่า 43 ปี โดยเริ่มต้นเมื่อปี 2523 จากประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนและไทยลงนามในข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน(Basic Agreement) ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Projects:AIP) เพื่อสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้แต่ละประเทศต้องดำเนินโครงการอย่างน้อยหนึ่งโครงการ และกําหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 50% ของยอดเงินลงทุนทั้งหมดและมีสัดส่วนที่เป็นเงินลงทุนจากรัฐบาลเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 20% ของยอดเงินลงทุน และอีก 40% ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 20% ของทุนจดทะเบียน ที่ออกและชําระแล้วตาม Basic Agreement

อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลต่างประเทศตาม Basic Agreement ไม่ประสงค์ที่จะเพิ่มทุนในบริษัท ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซียลดลงจาก 13% เป็น 5.96% ส่วนรัฐบาลประเทบรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ลดลงจาก 1% เป็น 0.56% ซึ่งต่างจากสัดส่วนตาม Basic Agreement และ JV

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,858 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566