"เจ้าสัวคีรี" สู้ศึกถึงที่สุด คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม

02 ก.พ. 2566 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2566 | 13:50 น.
1.2 k

“เจ้าสัวคีรี” บีทีเอส ประกาศสู้ศึกคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มถึงที่สุด ระบุไม่ใช่การต่อสู้แค่เอกชน 2 ราย ยันเป็นคดีของภาคสังคม จับตาคดีประมูลรอบสอง ชี้ส่วนต่างค่าก่อสร้างรัฐสนับสนุน 6.8 หมื่นล้าน รัฐ-ประเทศชาติ-ประชาชนเสียหายทันทีหากลงนามสัญญา

การพิจารณาคดีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปมการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูล โดยให้พิจารณา ซองเทคนิค พ่วงซองราคา ซึ่งเป็นคดีแรก และเป็นหนึ่งในคดีที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปัจจุบันใกล้ได้ข้อสรุป

หลังมีกระแสข่าวจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุด เรียกประชุมองค์คณะใหญ่ พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย รอเพียงการนัดวันอ่านคำพิพากษา แน่นอนว่า หลายฝ่ายทั้งภาคสังคม พรรคการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ รวมถึงบีทีเอสซีต่างจับตามองว่าผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ จะออกมาในทิศทางใด

ขณะคดีที่2 การยกเลิกการประมูล ครั้งแรก แม้ผลการตัดสินของศาลปกครองกลางพิพากษาว่าการยกเลิกไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฐานะจำเลยยื่นขออุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าผลการพิจารณาจะออกมาเมื่อใดเช่นเดียวกัน 

คำชี้ขาดศาลคือบรรทัดฐาน

อย่างไรก็ตามการตัดสินคดีดังกล่าว จะเป็นการวางบรรทัดฐาน ในโครงการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในคราวต่อไปโดยเฉพาะกรณีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก ภายหลังการปิดจำหน่ายเอกสารคัดเลือก ซึ่งหน่วยงานของรัฐทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจะมีผู้ใดเข้าแข่งขัน

ดังนั้นการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกย่อมกระทบแก่ ทั้งผู้ซื้อซองและผู้ไม่ได้ซื้อซองทำให้เอกชนต้องพึงพิจารณาโครงการต่อๆไปของภาครัฐว่าจะสุ่มเสี่ยง เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่

ระทึกคดีประมูลภาค2

ที่น่าจับตาจะเป็นคดีการประมูลครั้งที่2 ซึ่งเป็นคดีที่3 ที่บีทีเอสซีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล ที่บีทีเอสซีและพรรคการเมืองฝ่ายค้านมองว่าส่อไปในทางกีดกันการแข่งขันหรือไม่ แม้รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ

จะใช้เกณฑ์ตัดสินผู้ชนะที่ซองราคาเช่นเดิมแต่ มีการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่เข้มงวดสูงจนผิดปกติ โดยเฉพาะคุณสมบัติของผู้รับเหมาก่อสร้าง งานโยธา สายสีส้มช่วงตะวันตกต้องเป็นผู้รับเหมาไทยที่มีผลงานกับรัฐบาลไทยมาไม่น้อยกว่า 20 ปีโดยเฉพาะอุโมงค์ ฯลฯ ซึ่งทั่วโลกมีเพียง2ราย

แม้แต่ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการเดินรถระบบรางแห่งแรกของไทย และพันธมิตร อย่างบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ต้องขาดคุณสมบัติแบบค้านสายตาและอาจจะกลายเป็นชนวนนำไปสู่การประมูล

ที่เกิดปมส่วนต่างของราคาที่เอกชนผู้ชนะประมูลในรอบที่สองสูงถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ที่รัฐและประเทศชาติอาจเสียประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนมากเกินจำเป็น จากการออกมาเปรียบเทียบตัวเลขของ พรรคฝ่ายค้านและบีทีเอสซี ระหว่างการประมูลรอบแรกและการประมูลรอบที่2 ที่ได้ตัวเอกชนผู้ชนะประมูล

 

 

ที่ปัจจุบันคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟม.) มีมติอนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มที่รฟม.จะลงนามร่วมกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือBEM เนื่องจากสัญญาได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดเรียบแล้ว

ลำดับต่อไปเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่มองว่ายังมีคดีคงค้างอีกอย่างคดีประมูลรอบที่2 ดังนั้น การลงนามในสัญญาต้องรอไปอีกระยะ

เจ้าสัว คีรี สู้ไม่ถอย

อย่างไรก็ตามการต่อสู้คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ผ่านมานายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มักเน้นยํ้ามาโดยตลอด ว่าการต่อสู้ของ บีทีเอสครั้งนี้ คือการต่อสู้ไปกับประชาชน เนื่องจากเป็นเรื่องความเสียหายของประเทศชาติ

ต่อเรื่องนี้นายคีรี กาญจนพาสน์  ประธานกรรมการ บีทีเอส กรุ๊ป เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการต่อสู้ในคดี ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า ไม่ใช่การต่อสู้คดีระหว่างสองบริษัทเอกชน แต่จะเป็นการต่อสู้ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากคดีดังกล่าว อาจจะมีผลกระทบต่อเงิน หรือภาษีของประชาชนทุกคนและเงินงบประมาณของประเทศ ซึ่งประชาชน จะยอมหรือไม่

“ยืนยันว่า จะสู้จนถึงที่สุดแม้จะแพ้คดีแต่มองว่าจะแพ้อย่างมีโอกาสสู้และอยากให้ประชาชนทุกคนออกมา ต่อสู้ร่วมกันว่าการประมูลงานที่รัฐเสียประโยชน์ จำนวนมากของประชาชน จะสมควรหรือไม่”

นอกจากนี้ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดคุณสมบัติที่กีดกันการแข่งขันและส่อไปในลักษณะที่ฮั้วประมูลที่ไม่มีจริยธรรมคุณธรรมหากเป็นเช่นนี้ อนาคตโครงการต่างๆใ นประเทศจะเกิดความวุ่นวายตามมาโดยเฉพาะกรณีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ประมูลกลางคันในระหว่างประมูลงาน

นายคีรี อธิบายต่อว่า ทั้งนี้คดีรื้อเกณฑ์ประมูลรอบแรกผลจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลแต่การเปลี่ยนทีโออาร์ หากวันนั้นไม่เปลี่ยนทีโออาร์รัฐจะได้คู่สัญญาในราคาที่ถูกกว่า คือบีทีเอสแต่วันนี้การประมูลใหม่และได้ตัวเอกชนที่ดำเนินการก่อสร้าง โครงการที่ บีทีเอส สามารถดำเนินการได้ไม่ต่างกันแต่ครั้งนี้รัฐต้องควักจ่าย 6.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับคดีประมูลรอบที่2 ที่บีทีเอสซีฟ้องต่อศาลฯพิพากษาและจะต้องติดตามว่า คนทั้งประเทศ เอกชนหลายหน่วยงาน จะออกมาดำเนินการ อย่างไร

“หากคดีความ ที่บีทีเอสชนะก็ไม่ได้หมายความว่าบีทีเอสจะได้โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นเพียงการขอให้มีการแข่งขันการประมูลอย่างเป็นธรรมซึ่งผลสุดท้ายบีทีเอสอาจจะแพ้ก็เป็นได้”

ดันเต็มสูบเข้าครม.

แหล่งข่าวจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านกล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามผลักดันผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สะท้อนจากเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา บอร์ดรฟม.มีมติเห็นชอบร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม และเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.

ที่น่าจับตาคือมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าผลการพิพากษาจะออกมาเร็วๆนี้ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มักยืนยันว่า หากศาลปกครองสูงสุดออกมา ถึงที่สุด จะสามารถลงนามในสัญญากับเอกชนผู้ชนะประมูลได้แต่ทั้งนี้เกรงว่านายกรัฐมนตรีจะไม่เห็นชอบด้วย

“เชื่อว่าโครงการฯนี้นายกรัฐมนตรีคงไม่กล้านำเรื่องเข้าครม. หากมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจไม่ผ่านความเห็นชอบ”

ย้อนเวทีตรวจสอบสายสีส้ม

หากย้อนไทม์ไลน์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มพบว่าเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้เปิดเวทีสาธารณะค้นหาความจริง “กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูลรถไฟสายสีส้ม ซึ่งมีผู้คนต่างแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ในเวทีนั้น นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ ACT ได้มีการทำหนังสือถึงนายกฯตรวจสอบในเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือการใช้อำนาจบริหารมาตรวจสอบโครงการฯดังกล่าว

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

เชื่อว่าอัยการสูงสุดคงไม่ได้ดำเนินการ เพราะมองว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดแต่สามารถดำเนินการได้เฉพาะการตรวจร่างสัญญาเท่านั้นอย่างไรก็ตามการตรวจร่างสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มของอัยการสูงสุดแม้จะผ่านแล้ว แต่มีการตั้งข้อสังเกตุว่าโครงการฯยังเป็นคดี ซึ่งยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้มีการส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีรายคนเพื่อพิจารณาตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่อทุจริต 6.8 หมื่นล้านบาทแต่กลับไม่ได้รับการตรวจสอบ เป็นต้น

 

 

 

\"เจ้าสัวคีรี\" สู้ศึกถึงที่สุด คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม