“ไทย-สปป.ลาว” กระชับความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช

27 ม.ค. 2566 | 17:42 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2566 | 17:42 น.

“มนัญญา” ประกาศเป็นเจ้าภาพต้อนรับสปป.ลาว กระชับความร่วมมือในนาม "คณะทำงานร่วมด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืชไทย-ลาว" ครั้งแรกต้น พ.ค.นี้

 

นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะทีมไทยแลนด์พร้อมด้วยคณะข้าราชการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้ประกอบการจากภาคเอกชน เดินทางเยือน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อหารือ ความร่วมมือด้านการเกษตร ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 25-28 มกราคม 2566 นั้น

 

“ไทย-สปป.ลาว” กระชับความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช

ล่าสุด มอบหมายให้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเมืองเวียงจันทน์ ร่วมประชุมหารือกับนายบุญจันทน์ คมบุญสิทธิ์ อธิบดีกรมปลูกฝังและคณะผู้บริหารของกรมปลูกฝัง สปป.ลาว เพื่อยกระดับเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรมาตรการสุขอนามัยพืชและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ไทย ลาว

 

“ไทย-สปป.ลาว” กระชับความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช

นายระพีภัทร์ เผยหลังการประชุมว่า  การเยือนระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มิตรภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และตั้ง คณะทำงานร่วมด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช ไทยลาว (Joint Working Group) พร้อมกำหนดการประชุมร่วมครั้งแรกโดยฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพในต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ประเด็น ดังนี้

 

1. ความร่วมมือด้านวิชาการการเกษตรเพื่อยกระดับการผลิตพืชให้ได้มาตรฐาน เพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก  อาทิการจัดหลักสูตรฝึกอบรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านการผลิตสินค้าพืชให้ได้มาตรฐานการเกษตรที่ดี และเหมาะสม (GAP)การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรการคัดบรรจุตามมาตรฐาน GMP เป็นต้น ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร ระบบการทำบัญชีสหกรณ์ และระบบการควบคุมภายในให้แก่สหกรณ์ของ สปป. ลาว

 

“ไทย-สปป.ลาว” กระชับความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช

2. ความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยพืชไทย-ลาว เพื่อเพิ่มศักยภาพความสามารถการควบคุมจัดการโรค แมลง ศัตรูพืช เพื่อการส่งออก ตลอด Supply Chain รวมถึงความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชในการตรวจสอบการนำเข้าส่งออกที่เป็นด่านชายแดนถาวร และด่านพรมแดนชั่วคราว ที่เป็นจุดผ่อนปรน

 

“ไทย-สปป.ลาว” กระชับความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช

3. การอำนวยความสะดวกทางการค้า ในลักษณะการค้าชายแดนไทยลาว และการอำนวยการ ในการส่งออกผ่านแดนไปยังประเทศที่สาม เช่น ส่งออกผลไม้ไทยผ่านแดน สปป. ลาวไปยังประเทศจีนทั้งในรูปแบบ เส้นทางรถไฟ เส้นทางรถบรรทุก ซึ่ง ไทย -จีน มีข้อตกลงการส่งออกผลไม้ผ่านประเทศที่สามต้องเป็นไปตามมาตรการสุขอนามัยพืช และปิดตราผนึก (ซีลตู้คอนเทนเนอร์) ของกรมวิชาการเกษตร

 

“ไทย-สปป.ลาว” กระชับความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช

 

เพื่อป้องกันการปนเปื้อน และปลอมปนสินค้าในระหว่างการขนส่ง ดังนั้น กรณีการส่งออกผลไม้จากไทยผ่านแดนลาวไปจีน จะไม่มีการตัดตราผนึก (ซีลตู้คอนเทนเนอร์) ยกเว้นกรณีที่มีข้อมูลเรื่องการซุกซ่อนสิ่งผิดกฎหมาย

 

“ไทย-สปป.ลาว” กระชับความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนในระดับรัฐมนตรีช่วยฯ ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการเกษตร การกักกันพืช และการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างสองประเทศแล้ว ผลสำเร็จรวมถึงการจัดการขนส่ง และโลจิสติกส์ในระบบรางของสินค้าเกษตรไทย เพื่อรองรับฤดูกาลส่งออกทุเรียนสด และผลไม้สดภาคตะวันออกของไทย ที่จะส่งออกด่านรถไฟโม่ฮาน ของจีน  โดย ฝั่ง สปป.ลาวยินดีอำนวยความสะดวกการขนส่งผ่านแดน และจะไม่เปิดตู้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการขนส่ง และรักษาคุณภาพของผลไม้ไทย(Premium Thai Fruits ) จนถึงผู้บริโภค