ย้อนรอยสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” สู่ข้อพิพาทศาลปกครอง

22 ม.ค. 2566 | 08:00 น.
603

รถไฟฟ้าสายสีเขียว อลเวง กทม.-เคที รับศึกหนักสางปัญหาหนี้ก้อนโต-ขยายสัญญาสัมปทาน หลังเมินเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า กระทบบีทีเอส แบกภาระเดินรถอ่วม ลุยฟ้องศาลปกครองทวงหนี้รอบ 2

ล่าสุดยังคงเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน อีกทั้งกทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ยังไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวได้เมื่อไร จนนำมาสู่การฟ้องร้องคดีในศาลปกครองจากบีทีเอส ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายนี้ให้กับหน่วยงานของรัฐ


จุดชนวนโอนสัญญาให้ กทม.


ที่ผ่านมากทม.และรฟม.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 รวมทั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 กทม.ได้มีการทำสัญญากับกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ เพื่อรับภาระทางการเงินและภาระการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วย 1.สัญญาให้กู้ยืมเงินต่อระหว่างกระทรวงการคลังกับกทม. 2.สัญญาชำระคืนเงินยืมระหว่างกระทรวงการคลังกับกทม. ปัจจุบันการโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
 

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในขณะนั้น ได้เป็นประธานเปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ ในเดือนธันวาคม ปี 61 โดยประกาศงดเก็บค่าโดยสาร 4 เดือน ก่อนที่ต่อมาจะยกเลิกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนมาถึงปัจจุบัน

 

หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 63 มีกระแสข่าวว่า บีทีเอส ได้ร่อนหนังสือทวงค่าเดินรถไฟฟ้าจาก กทม. ราว 800 ล้านบาทถึง 3 ครั้ง จนมีกระแสข่าวอีกว่าบีทีเอส เตรียมหยุดเดินรถหาก กทม. ไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ 

เปิดแผนโอนหนี้สายสีเขียว 7.1 หมื่นล้าน

 

สำหรับหนี้การจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบันรฟม.ยังคงรับภาระในการชำระหนี้ สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นจำนวน 53,592 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งานโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จำนวน 30,940 ล้านบาท ประกอบด้วย ชำระคืนต้นเงินกู้ค่าก่อสร้างงานโยธาและค่าจ้างที่ปรึกษางานโยธา 28,171 ล้านบาท, ชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ 2,556 ล้านบาท ,ชำระค่าธรรมเนียมการกู้เงิน 211 ล้านบาท 2.ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนค่าทดแทนเพิ่มตามคำพิพากษาและส่วนการใช้ก่อสร้างทางเท้าความกว้างไม่น้อยกว่า 150 ซม. ซึ่งรฟม.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 3,504 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,483 ล้านบาท,ค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 11 ล้านบาท,ค่าจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ปี 2535 จำนวน 2.4 ล้านบาท,ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบคัดเลือกผู้รับจ้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า 7.3 ล้านบาท 3.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ รวมเงินชำระจริง 68,343 บาท

 

นอกจากนี้ยังมีหนี้งานโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ จำนวน 18,211 ล้านบาท ประกอบด้วย ชำระคืนต้นเงินกู้ค่าก่อสร้างงานโยธาและค่าจ้างที่ปรึกษางานโยธา 16,691 ล้านบาท, ชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ 1,402 ล้านบาท ,ชำระค่าธรรมเนียมการกู้เงิน 117 ล้านบาท 2.ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนค่าทดแทนเพิ่มตามคำพิพากษาและส่วนการใช้ก่อสร้างทางเท้าความกว้างไม่น้อยกว่า 150 ซม. ซึ่งรฟม.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 937 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 923 ล้านบาท,ค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 4.8 ล้านบาท,ค่าจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ปี 2535 จำนวน 2.4 ล้านบาท,ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบคัดเลือกผู้รับจ้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า 6.5 ล้านบาท 3.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ รวมเงินชำระจริง 322,611 บาท

 

หนทางแก้หนี้รถไฟฟ้า

 

การขยายเวลาสัมปทานให้แก่บีทีเอสออกไปอีก 30 ปี ถือเป็นหนทางที่มีหลายฝ่ายออกมาพูดถึงกันมากที่สุด ซึ่งจะทำให้สัมปทานเดินรถไฟฟ้าเดิมที่สิ้นสุดปี 2572 ก็จะไปสิ้นสุดในปี 2602 โดยบีทีเอสจะเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ราว 100,700 ล้านบาทแทน กทม. และมีการใช้อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท 

 

ขณะที่ส่วนการแบ่งรายได้ค่าโดยสารให้ กทม. แบบขั้นบันได ดังนี้ ในช่วง 15 ปีแรก (2572-2587) แบ่งให้ร้อยละ 10 ของค่าโดยสาร, ช่วง 10 ปีต่อมา (2588-2597) แบ่งให้ร้อยละ 15 ของค่าโดยสาร และช่วง 5 ปีสุดท้าย (2598-2602) แบ่งให้ร้อยละ 25 ของค่าโดยสาร และมีการระบุว่า หากผลตอบแทนเกินกว่า 9.60% จะแบ่งกระแสเงินสดสุทธิต่อผู้ถือหุ้นให้ กทม.เพิ่มเติม

 

บีทีเอส ฟ้องศาลปกครอง ทวงหนี้รอบแรก


ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค.64 บริษัทได้ยื่นต่อศาลปกครองกลาง ฟ้องกรุงเทพมหานคร(กทม.) และบจ.กรุงเทพธนาคม (KT) กรณีติดค้างหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวและศาลรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 18 ส.ค.64 โดยการฟ้องร้องครั้งนั้นเป็นการฟ้องในส่วนของสัญญาจ้างเดินรถที่มีมูลหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาท ยังไม่ได้รวมหนี้ในส่วนของสัญญาการจ้างก่อสร้างงานระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณประมาณ 20,000 ล้านบาท

 

สำหรับสาเหตุที่บีทีเอสฟ้องร้อง เนื่องจากกทม.และบจ.กรุงเทพธนาคม (KT) เบี้ยวการชำระหนี้ที่ค้างกับบีทีเอสนานหลายปี ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมาก เพราะบริษัทต้องหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาจ่ายค่าเดินรถในส่วนนี้ไปเรื่อยๆ 

 

ทั้งนี้ในคดีแรกนั้นศาลปกครองกลางชี้ขาดว่า กทม.และเคทีต้องชำระหนี้ ค่าเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1.2 หมื่นล้านบาทให้กับ บีทีเอสซี ในฐานะเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง รวมถึงข้อยุติการจัดเก็บค่าโดยสาร ที่เปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชนนานหลายปี


กทม.เมินเก็บค่าโดยสารต่อขยายสายสีเขียว 2 ช่วง

 

หลังจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ได้เปิดให้บริการประชาชนใช้บริการฟรีมานานกว่า 3 ปี ปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสารแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าที่ผ่านมากทม.มีการประกาศเตรียมเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลายครั้ง แต่กลับล้มไม่เป็นท่าและปล่อยให้เอกชนรับภาระหนี้จากการเดินรถทุกวันเพียงลำพัง

 

แหล่งข่าวจากกทม. เคยระบุว่า หากมีการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ก็ไม่สามารถชดเชยค่าจ้างเดินรถของกรุงเทพมหานครซึ่งมีประมาณ 5,000 ล้านบาทได้ จากการศึกษาหากจัดเก็บในอัตรา 15 บาทตลอดสายของส่วนต่อขยาย จะได้เงินชดเชยประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งส่วนต่างจำนวนนี้จะต้องมีการตั้งงบประมาณชดเชยจากสภากรุงเทพมหานคร 

 

นอกจากนี้หากมีการนำเข้าสภากรุงเทพมหานครอาจจะเกิดปัญหาในอนาคต โดยสภาเห็นว่าต้องชดเชยการขาดทุนของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเท่านี้แล้ว คงไม่ต้องการให้ กทม. เก็บค่าโดยสารเพียง 15 บาท โดยปัญหาสำคัญของการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ คือ การที่การมอบหมายงานในส่วนต่อขยายนี้ยังไม่เคยผ่านสภากรุงเทพมหานครมาก่อน การจะดำเนินการใดๆ จึงควรที่จะรายงานให้สภากรุงเทพมหานครทราบเสียก่อน


สภากทม.ถอนญัตติสายสีเขียว

 

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 กทม.ได้เสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พิจารณาดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่กลับพบว่า ในการเปิดให้อภิปรายในครั้งนี้ ส.ก. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เพราะเห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจของสภา กทม. เบื้องต้นทาง ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ขอหารือประธานสภา กทม. เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หัวหน้า คสช.) ซึ่งใหญ่กว่าข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งรวมทั้งควรให้ ส.ก. ชุดนี้ รู้รายละเอียดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มากกว่านี้ หลังจากนั้นค่อยกลับมาหารือใหม่อีกครั้ง เป็นเหตุให้มีการถอนญัตติดังกล่าวออกไปก่อน 

 

ฟ้องศาลปกครอง ทวงหนี้ต่อรอบ 2 

 

นายสุรพงษ์  เล่าต่อว่า ปัจจุบันบริษัทได้มีการฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 คดี รวมวงเงิน 23,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 65 บริษัทได้มีการฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่ 2 ต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 64-ตุลาคม 65 จำนวน 11,000 ล้านบาท

 

 “การฟ้องร้องของบริษัทในครั้งนี้ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่ชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 64 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 65 ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อเนื่อง ที่ผ่านมาการฟ้องร้องครั้งแรกเป็นการฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 62 จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 64”

 

ที่ผ่านมาบริษัทยังมีการฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่ 1 ต่อศาลปกครองซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 62-พฤษภาคม 64 จำนวน 12,000 ล้านบาท

 

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ศาลปกครองอยู่ระหว่างอุทธรณ์ในคดีฟ้องทวงหนี้สายสีเขียว ครั้งแรก จำนวน 12,000 ล้านบาทโดยคาดว่าภายในปี 66 คำพิพากษาดังกล่าวจะได้ข้อสรุปแล้ว ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 65 บริษัทได้ยื่นศาลปกครองสูงสุดในการจัดทำคำร้องให้ศาลฯพิจารณคดีดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วนตามพ.ร.บ.ศาลปกครอง หากเรื่องนี้มีการพิจารณาล่าช้าอาจกระทบต่อการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่อประชาชนได้ หากศาลรับเรื่องแล้วจะมีการพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ 

 

ค้านขยายสัมปทานผูกขาดบีทีเอส

 

ในปัจจุบันยังมีหลายฝ่ายมองว่าวิธีการขยายระยะเวลาสัมปทานให้บีทีเอส ที่มาจากคำสั่งการใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อยกเว้น พ.ร.บ.การร่วมทุนรัฐกับเอกชน ยังคงเป็นปัญหาข้อถกเถียงกันไม่สิ้นสุด เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวจะทำให้เกิดการแข่งขันและการประมูลที่ไม่โปรงใส  แต่เป็นการผูกขาดผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเพียงรายเดียว คือ บีทีเอส 

 

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและคณะกรรมาธิการวิสามัญบางส่วนแสดงความกังวลใจกับการขยายสัมปทานของ กทม. โดยมีการเสนอให้ชะลอการต่อสัมปทานเพิ่มเติมออกไปก่อน เนื่องจากยังเหลือเวลาตัดสินใจอีก 9 ปี โดยให้ตกลงสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถในส่วนของ แบริ่ง-สมุทปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไปก่อน และเมื่อถึงสิ้นสุดสัญญาในปี 72 ให้เปิดประมูลหาผู้รับผิดชอบเดินรถไฟฟ้ารายใหม่ ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562


หลังจากนี้คงต้องจับตาดูบทสรุปโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเดินหน้าต่ออย่างไร หากกทม.และเคทียังคงเมินปล่อยให้หนี้อ่วมก้อนโตอยู่แบบนี้ คงไม่รอดพ้นให้เอกชนฟ้องร้องครั้งที่ 3 อีกตามเคย แบบนี้จะมีเอกชนรายใดกล้าร่วมลงทุนกับภาครัฐอีก มีหวังคงโดนชวดเงินหลายหมื่นล้านเป็นแน่