เปิดเทอมินัลใหม่ ตรังเนื้อหอม ‘เอเยนซี มาเลย์-อินโดฯ-จีน’ บุกจัดทริป

20 ม.ค. 2566 | 14:01 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2566 | 14:23 น.
623

“โควิดคลาย-เทอมินัลใหม่” หนุนตรังเนื้อหอม ล่าสุดเอเยนซีนำเที่ยวจีนลงพื้นที่ เตรียมบินเหมาลำจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิงและไต้หวัน มาตรัง ตามรอยทัวร์มาเลย์-อินโดนีเซีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากโครง การพัฒนาท่าอากาศยานตรัง งบกว่า 4,000 ล้านบาท มีความคืบหน้าและเตรียมเปิดใช้งาน ประกอบกับสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และทางการจีนเปลี่ยนนโยบายเปิดให้ประชาชนเดินทางเข้าออกประเทศได้แล้ว ตั้งแต่ 8 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

 

ทำให้ตรังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการท่องเที่ยวแถบชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเอเยนซี ทัวร์ในภูมิภาคทะยอยลงพื้นที่ตรัง เพื่อสำรวจตลาดและความพร้อมการเดินทาง และทำแผน การท่องเที่ยวไปเสนอขายในแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง
อาคารผู้โดยสารใหม่ ท่าอากาศยานตรัง ตืบหน้าแล้ว 76 % คาดแล้วเสร็จมิ.ย.2566 นี้

เปิดเทอมินัลใหม่ ตรังเนื้อหอม ‘เอเยนซี มาเลย์-อินโดฯ-จีน’ บุกจัดทริป

ล่าสุด เอเยนซีทัวร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวรายใหญ่จากจีน ได้เดินทางมาดูสนามบินตรัง พร้อมทั้งขอข้อมูล เพื่อจะนำเครื่องบินเช่าเหมาลำ นำนักท่องเที่ยวจากเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และไต้หวัน มาเที่ยวจังหวัดตรัง เพื่อชมธรรมชาติที่สวยงาม อาหารอร่อย และท่าอากาศยานตรังมีความพร้อม ในการรองรับเครื่องบินจากต่างประเทศได้แล้ว

 

ทั้งนี้ ตรังเป็นจุดหมายการจัดแผนการท่องเที่ยวของ เอเยนซีทัวร์จากจีน ตั้งแต่ก่อนการระบาดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่จากคุนหมิง เคยยกคณะมาสำรวจท่าอากาศยานตรังถึง 3 ครั้ง เพื่อจะนำนักท่องเที่ยวจากคุนหมิงขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำมาตรัง แต่พักไปก่อนจากโควิด- 19 ระบาด

เปิดเทอมินัลใหม่ ตรังเนื้อหอม ‘เอเยนซี มาเลย์-อินโดฯ-จีน’ บุกจัดทริป

เปิดเทอมินัลใหม่ ตรังเนื้อหอม ‘เอเยนซี มาเลย์-อินโดฯ-จีน’ บุกจัดทริป

นอกจากนี้ เมื่อ 4 เดือนก่อน หลังจากไทยและประเทศในภูมิภาคเปิดประเทศหลังโควิดคลี่คลาย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และเอเยนซีทัวร์จากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็นำทีมมาสำรวจสนามบินตรัง เพื่อเปิดตลาดท่องเที่ยวที่ตรังเช่นกัน

 

นายธีรวัฒน์ หวังศิริเลิศ ประธานหอการค้าตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การพัฒนาสนามบินตรัง ให้เป็นสนามบินนานาชาติเต็มรูปแบบ เมื่อแล้วเสร็จ ด้วยศักยภาพของจังหวัดตรัง เชื่อมั่นว่าจะเปลี่ยนโฉมตรังเป็นเมืองการท่องเที่ยว การค้า การ ลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

ธุรกิจนำเที่ยวจากจีนเข้าพบและขอข้อมูลบริการจากผู้บริหารท่าอากาศยานตรัง

เนื่องจากตรังมีความพร้อมทุกด้าน โครงข่ายคมนาคมขนส่งครบ ทั้งสนามบินนานาชาติ เส้นทางรถไฟ รถยนต์ ตลอดจน ท่าเรือ ทั้งเรือประมง เรือชายฝั่ง หรือระหว่างประเทศ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทั้งภูเขา ป่า ที่ราบ ทะเล ไปถึงเกาะแก่งต่างๆ มีพื้นที่ทั้งเพื่อการ เกษตรและท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน

 

ประธานหอการค้าตรังชี้อีกว่า สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง คือ โรงแรม รีสอร์ท หรือที่พักที่ได้มาตรฐานระดับ 4-5 ดาว รวมถึงบริการต่างๆ เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง แหล่งช้อปปิ้ง การขนส่งโดยสารสาธารณะ เพราะกลุ่มนี้ต้องการบริการที่ดี มีเงินพร้อมจ่าย โดยจะเป็นการลงทุนของคนตรังเอง หรือนักลงทุนสนใจจะมาลงทุนที่นี่ก็ยินดีต้อนรับ

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกสาขาอาชีพ ต้องร่วมมือกันวางมาตรการให้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มั่นคงและยั่งยืน คัดเลือกกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ผู้ให้บริการก็ขายสินค้าที่ดีราคาเหมาะสม ไม่เน้นเพิ่มจำนวนเข้ามามากจนล้น ให้บริการไม่ทัน หรือเกิดการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวจนเกิดอคติ ต่อไปก็ไม่มีใครมา

 

“เราเคยมีบทเรียนมาหลายที่แล้ว อย่างการนำทัวร์ศูนย์เหรียญเข้ามา ปรากฏว่าคนในพื้นที่แทบไม่ได้อะไรเลย กลุ่มคนจีนลงทุนเองหมดเกือบครบวงจร ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวจีนกันเองหมด เงินเรานำกลับไปบ้านเขาหมด เรื่องอย่างนี้ผู้ประกอบการไทยต้องจับมือกันวางมาตรการ และภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนจึงจะไปได้ อย่าเร่งรวยจนเกิดผลเสีย เพราะเป็นอาชีพที่อ่อนไหวมาก”

 

นายธีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตรังมุ่งการท่องเที่ยว ต่อเนื่องสู่การประชุม สัมมนา จนถึงด้านกีฬา ซึ่งจะดึงการค้าการลงทุนตามมา ทำให้เศรษฐกิจตอบโตได้ต่อเนื่อง ในปี 2568 กลุ่มจังหวัดอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่และตรัง เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ โดยนอกจากมีสนามบินกระจายทั่วแล้ว ใน 4 จังหวัดนี้มีวิทยาลัยการกีฬา และมหาวิทยาลัยกีฬา พร้อมรองรับการแข่งขันด้วย

พ.จ.อ.เมืองชล วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง

ด้าน พ.จ.อ.เมืองชล วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เผยว่า การพัฒนาท่าอากาศยาน 4 แผนงาน งบรวมกว่า 4,000 ล้านบาทนั้น เวลานี้แผนงานขยายลานจอดเครื่องบินให้ได้พร้อมกัน 10 ลำ ก่อสร้างเสร็จแล้ว ส่วนการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร(เทอมินัล)ใหม่ คืบหน้ากว่า 76% คาดจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 2566 นี้ โดยขั้นตอน หลังจากนั้นต้องให้สำนักงานการบินพลเรือน เข้ามาตรวจรับรองตามกฎระเบียบการบินก่อน

 

ในส่วนการบินระหว่างประเทศ ทางท่าอากาศยานตรังจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร และด่านกักกันพืชโรคและสัตว์ มาประชุมเตรียมการรองรับ คาดว่าจะเปิดได้เร็วที่สุดภายในต.ค. 2566 หรือไม่เกินปลายปีนี้

เปิดเทอมินัลใหม่ ตรังเนื้อหอม ‘เอเยนซี มาเลย์-อินโดฯ-จีน’ บุกจัดทริป

ส่วนบริการเติมนํ้ามันเครื่องบินนั้น ช่วงแรกจะประสานผู้ให้บริการนํ้ามันนำรถโมบายมาเติมให้ หากมีเที่ยวบินมากจนคุ้มที่จะตั้งสถานีบริการนํ้ามันเชื้อเพลิงเครื่องบินได้ จะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อไป โดยในช่วงแรกบริการเครื่องบินขนาดไม่เกิน 180 ที่นั่ง แบบโบอิ้ง 737- 800 แอร์บัส 320-200 หรือเครื่องบินแบบอื่นๆ ที่ใช้ทางวิ่งไม่เกิน 2,100 เมตร จนกว่าแผนงานขยาย ทางวิ่ง(รันเวย์)สนามบิน ออกไปให้ได้ความยาว 2,990 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างก่อสร้าง ตามสัญญาจะแล้วเสร็จม.ค. 2568 

 

ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,855 วันที่ 22-25 มกราคม พ.ศ.2566