สมาคมท่องเที่ยวเสม็ดโร่ร้องศาล อุทยานฯรีดเพิ่ม"ค่ารายปี-ที่เปราะบาง"

17 ม.ค. 2566 | 14:49 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 22:15 น.

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดโวย เพิ่งฟื้นโควิดโดนรีดเพิ่ม ทั้งค่าธรรมเนียมรายปีเรือ ค่าเข้าพื้นที่เปราะบาง โร่ร้องศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง ปูด"ส่วยเกาะเสม็ด"พรึบ 

ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวทุกสาขาอาชีพบนเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ที่ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีจากอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เพิ่มเติมจากที่ต้องจ่ายรายเดือนหรือรายวันอยู่แล้ว ที่นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคโอกาสไทย อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาเปิดประเด็น ว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการ จนเป็นข่าวฮือฮา และขยายวงถึงการก่อสร้างต่อเติมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ว่าต้องจ่ายเงิน 10 % จึงจะสร้างได้ 

 

เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 17ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น กับนางสริญทิพย์ ทัพมงคลทรัพย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด ซึ่งเปิดเผยว่า เรื่องความเดือดร้อนของชาวเกาะเสม็ดตนไม่เคยนิ่งนอนใจ

นางสริญทิพย์ ทัพมงคลทรัพย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด

สมาคมท่องเที่ยวเสม็ดโร่ร้องศาล อุทยานฯรีดเพิ่ม\"ค่ารายปี-ที่เปราะบาง\"

ซึ่งเรื่องการขึ้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่ารถโดยสาร ค่าเรือโดยสารรายปี ที่ไม่เคยจ่ายกลับต้องมาจ่าย หากเฉลี่ยต่อวันรวมกับที่ต้องจ่ายรายเดือน นับว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่แพงมากสำหรับคนทำมาหากิน และที่ผ่านมาก็เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 และน้ำมันรั่ว ยังต้องมารับภาระจ่ายรายปีซ้ำเติม จึงได้เรียกร้องให้มีการผ่อนผันแต่ก็ไม่เป็นผล ทางสมาคมฯเตรียมยื่นศาลปกครอง ให้ชะลอคำสั่งเพื่อบรรเทาผลกระทบ

 

ข่าวส่วยที่เกิดขึ้นกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดหรือไม่นั้น นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด ยืนยันว่า ยังไม่มีผลกระทบ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะด้านการบริหารจัดการ นักท่องเที่ยวยังมาท่องเที่ยวพักผ่อนได้ตามปกติ ไม่มีการขึ้นค่าบริการใด ๆ ส่วนค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ ที่ต้องจ่ายเพิ่ม 100 บาท เป็นการจ่ายกรณีที่นักท่องเที่ยวประสงค์ไปเที่ยวต่อพื้นที่อื่น เช่น เกาะทะลุ เกาะกุฏี ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องเก็บเพิ่มคนละ 100 บาทเพื่อส่งให้อุทยานฯตามระเบียบ ย้ำว่าเป็นการเก็บเพิ่มเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนชาวไทยจ่ายค่าเข้าอุทยานฯ คนละ 40 บาท เที่ยวได้ทุกเกาะเหมือนเดิม

สมาคมท่องเที่ยวเสม็ดโร่ร้องศาล อุทยานฯรีดเพิ่ม\"ค่ารายปี-ที่เปราะบาง\"

ข้อมูลบางส่วนที่ผู้ร้องเรียนระบุมีการเรียกรับเงิน

ส่วนเรื่องการเรียกเก็บเงินจากการก่อสร้างต่อเติมบนเกาะเสม็ดนั้น  ต้องบอกก่อนว่า ปัญหาเรื่องที่ดินบนเกาะเป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อมานาน เพราะบนเกาะเสม็ดมีบางส่วนเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ บางส่วนเป็นพื้นที่อุทยานฯ ทับซ้อนกันทั้งสองหน่วยงาน ผู้ประกอบการไม่สามารถขยายการครอบครองกรรมสิทธิ์ไปนอกเขตได้อยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่มีใครบุกรุกเพิ่ม แต่เมื่อมีข่าวดังออกมาเป็นกระแส ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเรื้อรังให้กระจ่าง
 

 

โดยก่อนหน้านี้(16 ม.ค.2566) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เกาะเสม็ดตรวจสอบกรณีร้องเรียนดังกล่าวจากผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว นายยานยนต์ อรุณเวสสะเศรษฐ  นายกสมาคมผู้ประกอบการเรือโดยสารบ้านเพ-เกาะเสม็ด ได้กล่าวว่า กรณีที่ทางอุทยานฯ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเรือโดยสารที่วิ่งเข้าออกเกาะเสม็ด เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว เป็นความจริง

นายยานยนต์ อรุณเวสสะเศรษฐ  นายกสมาคมผู้ประกอบการเรือโดยสารบ้านเพ-เกาะเสม็ด

ซึ่งทุกวันนี้ทางผู้ประกอบการที่อยู่ในสมาคมฯทั้งหมดยังไม่จ่าย เพราะสูงเกินไป จึงได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ถึงปลัดและรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แล้ว ให้คงอัตราเดิมไปก่อน แต่ยังไม่มีการตอบรับ  เพราะยังบอบช้ำจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา และขอให้เพิ่มจุดขึ้น-ลงเรือเพิ่ม จะได้ไม่แออัดบนท่าเรือหลัก และนักท่องเที่ยวต้องรอนานกว่าจะผ่านด่าน

 

นอกจากนี้ ความเดือดร้อนยังรวมถึงเรื่องค่าผ่านเข้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด คือ พื้นที่ทั้งหมดในอุทยานฯ ที่เรียกเก็บอยู่แต่เดิม แต่กลับมีการตั้งกฎขึ้นใหม่ ว่าหากนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการไปดำน้ำในเกาะกุฎี เกาะทะลุ และเกาะปลาตีน ต้องเสียเงินเพิ่มอีกคนละ 100 บาท ทั้ง ๆ ที่ก็อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จึงสร้างความไม่พอใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องมาจ่ายซ้ำซ้อน ผู้ประกอบก็ไม่สามารถที่จะอธิบายได้กับมาตรการดังกล่าว เพราะเดิมไม่เคยมี

สมาคมท่องเที่ยวเสม็ดโร่ร้องศาล อุทยานฯรีดเพิ่ม\"ค่ารายปี-ที่เปราะบาง\"

ส่วนน.ส.แพรว และ น.ส.ศร แม่ค้าหาบเร่แผงลอยริมชายหาด อ่าววงเดือน เกาะเสม็ด ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว รับว่า ต้องจ่ายรายเดือนให้กับอุทยานฯ ที่เรียกเก็บเป็นค่าบำรุงสถานที่ เดือนละ 300 บาท เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าโควิด ที่เคยเสียอยู่ประมาณ 200 บาท โดยมีผู้ค้าทั้งหมด 51 ราย นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายรายเดือนเช่นกัน ดังนี้ หมอนวดริมหาด ให้เช่าห่วงยาง ขายผ้า รับเพ้นท์ร่างกาย ขายของกลางคืน ซับบอร์ด เจ็ทสกี และ เรือเร็วลากร่ม 

 

ทางด้านนางบรรทม เจริญผล อายุ 64 ปี เจ้าของทอมพิชซ่า อ่าววงเดือน กล่าวว่า ที่นี่เรื่องสกปรกเยอะ เป็นเรื่องจริง ใครก็รู้ เพียงแต่จ่ายกันใต้โต๊ะ  โดยรถยนต์โดยสารบนเกาะ ต้องเสีย 16,000 บาท เป็นค่าดำเนินการ และต้องเสียรายปีอีกคันละ 2,000 บาท และรายเดือนอีกต่างหาก ส่วนการก่อสร้างต่อเติมบนเกาะเสม็ดในที่ธนารักษ์ ต้องขออนุญาตไปทางอุทยานฯก่อน จะสร้างได้ต้องมี 10% ถ้าไม่จ่ายจะสร้างได้ไหม

นางบรรทม เจริญผล คนพื้นเพเกาะเสม็ด เรียกร้องให้ทำความสะอาดการเรียกรับผลประโยชน์บนเกาะ

ถึงเวลาต้องตรวจสอบกวาดล้างเกาะเสม็ดให้สะอาดเสียที เพราะอยู่ที่นี่มาตั้้งแต่ก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ก็เห็นหมักหมมกันมาตลอด กลายเป็นแหล่งทำเงินให้แก่ผู้มีอำนาจ มากอบโกยเก็บสารพัด โดยไม่สนใจว่าผู้ประกอบการจะอยู่ได้หรือไม่ ไม่เคยสร้างความเจริญให้เกาะ กระทั่งห้องน้ำยังไม่เพียงพอ ถนนก็เป็นงบของหน่วยงานอื่น จึงต้องการให้มีการกันพื้นที่ชุมชน ออกจากพื้นที่อุทยานฯให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เกิดการเรียกรับผลประโยชน์  

 

ขณะที่นายโนรี ตะถา ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ชี้แจงว่า การเก็บค่าเข้าอุทยานฯ เพิ่ม เป็นการเก็บเฉพาะชาวต่างชาติ ตามประกาศของทางกรมฯ ที่กำหนดให้ต้องเก็บเพิ่มคนละ 100 บาท จากเดิม 200 บาท เฉพาะพื้นที่สวยงามเปราะบาง ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเกาะเสม็ด เสียค่าเข้าคนละ 200 บาท หากจะไปต่อที่เกาะทะลุ เกาะกุฏี ก็เก็บเฉพาะรายที่จะไปเพิ่มคนละ 100 บาท 

 

ส่วนการเก็บค่าเรือโดยสารจากผู้ประกอบการเพิ่มนั้น เป็นกฎกระทรวงที่เพิ่งออกมาเมื่อปลายปี พ.ศ 2565   สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการอื่น ๆ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถโดยสาร จะรวมกลุ่มกันแต่ละอาชีพ และตั้งกฎระเบียบและบริหารภายในสมาชิกกันเอง อุทยานฯ ดูแลกำหนดให้ไม่เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ให้นักท่องเที่ยวเที่ยวอย่างมีความสุข ไม่ทำลายบรรยากาศและความเสียหาย ต่อนักท่องเที่ยวและธรรมชาติ ยืนยันว่าอุทยานฯ ไม่ได้เข้าไปเก็บเงินแต่อย่างใด    

สมาคมท่องเที่ยวเสม็ดโร่ร้องศาล อุทยานฯรีดเพิ่ม\"ค่ารายปี-ที่เปราะบาง\"

ทั้งนี้ นายดำรงค์ พิเดช ระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการบนเกาะเสม็ด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม การอนุญาตให้ประกอบการต่าง ๆ โดยเรียกเก็บค่ารถยนต์โดยสารบนเกาะ 16,000 บาทต่อปี มี 60 คัน  รถจักรยานยนต์รับจ้าง 1,600 บาทต่อปี มี 660 คัน  แล้วยังต้องจ่ายรายเดือนอีก เป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท โดยรายที่จ่ายจะได้สติ๊กเกอร์ 1 แผ่นไว้ติดแสดง  หากไม่จ่ายก็ไม่สามารถวิ่งรถได้ รวมถึงการก่อสร้างในพื้นที่เกาะเสม็ด ต่างก็ต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับการก่อสร้าง ขณะที่แม่ค้าหาบเร่แผงลอยโดนกันถ้วนหน้า